มหาสารคาม 7 ม.ค.- ผอ.ชป.ที่ 6 ติดตามติดตั้งเครื่องสูบน้ำย้อนกลับตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ก่อนเดินเครื่องเติมน้ำหน้าเขื่อนวังยางช่วยน้ำอุปโภคบริโภคมหาสารคามและร้อยเอ็ด
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ลงพื้นที่เขื่อนวังยาง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ติดตามการติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบริเวณท้ายเขื่อน ก่อนเดินเครื่องสูบน้ำย้อนกลับมาเก็บไว้ด้านหน้าเขื่อน ตามแนวทางบริหารจัดการน้ำ และลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้พื้นที่จังหวัดมหาสารคามมีน้ำเก็บกักเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง
นายศักดิ์ศิริ กล่าวว่า กรมชลประทานได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ระบายลงลำน้ำพองผ่านฝายหนองหวายไหลลงแม่น้ำชีผ่านเขื่อนมหาสารคามเข้ามาเติมหน้าเขื่อนวังยาง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งไปสนับสนุนการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม วันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละ 1-2 เซนติเมตร ในขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จะระบายน้ำลงลำปาว ลงแม่น้ำชี เหนือเขื่อนร้อยเอ็ด พร้อมกับควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่จากสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบสูบย้อนกลับและมีแผนการใช้เครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า submersible จำนวน 6 เครื่อง อัตราการสูบประมาณวันละ 180,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการสูบน้ำย้อนกลับประมาณ 35 วัน โดยจะเริ่มสูบประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้หน้าเขื่อนวังยาง สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคามไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563
นายศักดิ์ศิริ กล่าวว่า จากแนวทางดำเนินการดังกล่าวจะสามารถลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ประมาณวันละ 50,000 ลบ.ม. รวมประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำหน้าเขื่อนวังยาง เพื่อรักษาระดับน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ดบางส่วนในช่วงฤดูแล้งนี้.-สำนักข่าวไทย