สงขลา 29 ธ.ค.- ช่วงที่ผ่านมา ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาลดลง โดยเฉพาะปูทะเล จากการถูกจับขายอย่างรวดเร็วเกินกว่าธรรมชาติจะทดแทนทัน ทำให้ชาวประมงมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายอนันต์ มานิล หรือลุงนันต์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ ป.ทรัพย์อนันต์ กับเพื่อนพ้องชาวประมงที่ดักปูหากินในน่านน้ำเขต อ.สิงหนคร อ.สทิงพระและ อ.ระโนด จ.สงขลา รวมกลุ่มแก้ไขปัญหาโดยจัดทำธนาคารปูเพื่อเพิ่มจำนวนปูทะเล โดยมี ชำนาญ มานิล น้องชายลุงนันต์ ซึ่งปัจจุบันคือ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักปูบ้านหัวเขา เป็นผู้ดำเนินงานช่วยคิดค้นกระบวนการเพาะฟักลูกปู
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงและผลสำเร็จเบื้องต้นจากการเรียนรู้ของชุมชน ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำวิชาการมาช่วยเสริมภูมิปัญญาธนาคารปู และพัฒนาเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา” อย่างเต็มรูปแบบ สนับสนุนก่อสร้างอาคารศูนย์ฯ ห้องอบรม ส่วนนิทรรศการมีชีวิตควบกับโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกปู สามารถปล่อยลูกปูกลับสู่ทะเลได้มากกว่าเดิม คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้ชาวประมงเพิ่มขึ้น เกิดเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง
ปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถจับปูได้เพิ่มขึ้น บางคนจับปูได้วันละ 1,000 กิโลกรัม/ลำ มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ที่สำคัญศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขาเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ชุมชน โดยมีชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดอื่นๆ หน่วยงานราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้วิธีการเพาะฟักลูกปู นับเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูธรรมชาติ ที่เกิดจากการผสานองค์ความรู้คู่ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง สร้างความมั่นคงให้กลุ่มประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย