กสร.26 ธ.ค.-อธิบดีกรมสวัสดิการฯ ชี้แจงสถานการณ์ปิดกิจการ-การเลิกจ้าง พบเลิกจ้างเพิ่มขึ้นแต่การจ้างงานก็เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนการเลิกจ้างโยงสหภาพแรงงานอยู่ระหว่าง คกก.แรงงานสัมพันธ์พิจารณา ยันส่งพนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือลูกจ้างอย่างใกล้ชิด
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงประเด็นที่มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การปิดกิจการและการเลิกจ้างและอาจเกี่ยวโยงกับสหภาพแรงงาน โดยชี้แจงว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างลูกจ้าง และการปิดกิจการ รวมทั้งสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานอย่างใกล้ชิด
ซึ่งจากการตรวจสอบตัวเลขลูกจ้างมายื่นคำร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีสถานประกอบการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบและมายื่นหนังสือร้องเรียน 5,619 คน เมื่อเทียบแล้วพบว่าปี 2562 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 67.55 ลูกจ้างได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.09
หากเทียบตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 2561 พบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการ 296 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,101 คน ส่วน ต.ค.-ธ.ค. 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการไปแล้ว 365 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2,870 คน ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่นับรวม 2 กรณีที่เพิ่งมีการเลิกจ้างล่าสุด คือ จังหวัดชลบุรี ที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 ราย และจังหวัดสมุทรสาครที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 997 ราย
จากข้อมูลผู้ประกันตนที่เข้าสู่ระบบตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม และผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า มีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคม จำนวน 71,917 คน และมีผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 27,859 คน เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ประกันตนใหม่ที่เข้าสู่ระบบจะสูงกว่าจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 44,058 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเลิกจ้าง มีการปิดกิจการ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการเปิดกิจการและมีการจ้างงานเพิ่มเช่นเดียวกัน
อธิบดีกสร. กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีการเลิกจ้างล่าสุด บริษัทเซอิชิน จังหวัดชลบุรี พนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย จำนวน 50 คน ไว้เรียบร้อย บริษัทมิซูโน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างได้ยื่นคำร้อง ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กรณีการกระทำไม่เป็นธรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ และบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จังหวัดสมุทรสาคร พนักงานตรวจแรงงานได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าบริษัทได้จ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย มีลูกจ้าง 299 คน ได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว ส่วนลูกจ้างที่เหลือบริษัทจะโอนเข้าบัญชีภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2562ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานจะติดตามการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินอย่างครบถ้วน
สำหรับข้อกังวลกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าการปิดกิจการของสถานประกอบกิจการเป็นการใช้โอกาสในการทำลายสหภาพแรงงานนั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้ให้สิทธิในการรวมตัวของลูกจ้างในรูปแบบของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน กสร. ได้ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในรูปแบบทวิภาคีในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวได้มีคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่จะพิจารณากรณีที่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง
อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างของสถานประกอบกิจการทั้งสองแห่ง คือ บริษัทมิซูโน พลาสติก จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบริษัทพงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากยังคงต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ทั้งในเรื่องปัจจัยภายในของสถานประกอบกิจการและสภาพเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากลูกจ้างเห็นว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้คณะกรรมการฯ วินิจฉัยชี้ขาดภายใน 90 วัน นับแต่วันยื่นคำร้อง .-สำนักข่าวไทย