กรุงเทพฯ 22 ธ.ค. – กฟผ.เสนอนำเข้า LNG รอบใหม่ใช้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ “กุลิศ” ประธานบอร์ด หนุนเต็มพิกัด รวมทั้งให้ศึกษาแผนนำเข้าสัญญาระยะกลาง-ยาว หลังพบการนำเข้า SPOT ลดค่าไฟฟ้าได้อย่างน้อย 0.1 สตางค์/หน่วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) เปิดเผยว่า จากที่พนักงาน กฟผ.มีความกังวลใจจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ยกเลิกนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) โดย กฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และเห็นชอบให้ กฟผ.นำเข้าไม่เกิน 200,000 ตันในรูปแบบราคาตลาดจร ( SPOT)นั้น ขอชี้แจงว่ากระทรวงพลังงานยังสนับสนุนให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้า ( Shipper) รายใหม่ โดยเมื่อให้ทำแผนการนำเข้าในอนาคต เบื้องต้น 3 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โดย กฟผ.เสนอว่าการนำเข้ารอบต่อไปปี 2563-2565 ขอนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ทดแทนระยะที่ 1 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ซึ่งก็เห็นด้วยและ เร่งให้ กฟผ.สรุป และนำเสนอที่ประชุมบอร์ด กฟผ.เดือนมกราคม 2563 และขออนุมัติจากคณะบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช.ต่อไป ซึ่งแผนการนำเข้าในอนาคต ของ กฟผ.ก็ให้ศึกษารวมถึงเรื่องการแก้ไขอุปสรรค เช่น แก้กฎหมาย กฟผ.ให้เป็นผู้จำหน่าย LNG ได้ด้วย
“ความจำเป็นที่ต้องยกเลิกการนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน/ปี สัญญา 8 ปี เนื่องจากว่ากฎหมายจัดซื้อจัดจ้างไม่เอื้อให้จองซื้้ือระยะยาว โดยยังไม่ทำสัญญาเพื่อนำเข้า เรื่ิองนี้จะถูกสอบได้ ในขณะนี้ยังหนุน กฟผ.นำเข้าเพื่อใช้เอง หากจะคงราคาเดิมกับปิโตรนาสไว้ก็ให้คุยกัน เพื่อนำเข้าล็อตใหม่ ๆ ในอนาคต ซึ่ง กฟผ.ก็อาจนำเข้าลักษณะ Medium Term หรือLong Term ก็ได้ก็ให้ศึกษาและเสนอบอร์ดมา” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า กฟผ.ยืนยันว่าสามารถนำเข้า LNG และจะสามารถทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศถูกลง เนื่องจากมีต้นทุนต่ำลง และยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า LNG (LNG HUB) ต่อไป
อย่างไรก็ตาม วันที่ 28 ธันวาคมนี้ กฟผ.จะนำเข้า LNG ล็อตแรกในรูปแบบ Spot ปริมาณ 65,000 ตัน มาถึงท่าเทียบเรือมาบตาพุด จ.ระยอง และล็อต 2 อีก 65,000 ตันในเดือนเมษายน 2563 เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 พระนครศรีอยุธยาของ กฟผ. โดยได้สั่งการให้ กฟผ.เร่งจัดทำแผนประเมินผลการนำเข้า LNG ล็อตแรก เพื่อนำมาแสดงให้ภาครัฐเห็นถึงผลของนโยบายที่ กฟผ.สามารถเปิดประมูลจัดหา LNG ได้ในราคาต่ำอยู่ที่ 5.32 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งพบว่าจากการคำนวณต้นทุนผลิตไฟฟ้าเบื้องต้นจะช่วยให้ต้นทุนถูกลงประมาณ 0.1 สตางค์ต่อหน่วย
สำหรับนโยบายด้านราคานำเข้า LNG ในอนาคตโดย Shipper ทุกรายนั้น เบื้องต้น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้นโยบายว่า เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด LNG ที่นำเข้าของทุกราย กฟผ.ควรรวมอยู่ในสูตรโครงสร้างการคำนวนราคาก๊าซฯ ของประเทศที่เป็นสูตรราคาก๊าซเฉลี่ยรวม หรือ Pool Gas เพื่อเฉลี่ยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในอนาคตถูกลง ซึ่งจะนำมาเฉลี่่่ยกับก๊าซ ของ ปตท.ทั้งจากอ่าวไทย เมียนมา และ LNG
นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า การประชุมบอร์ด กฟผ.วันที่ 26 ธันวาคมนี้ จะพิจารณาความคืบหน้าเรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และ กฟผ. หรือ สัญญา Global DCQ ซึ่งเป็นสัญญาหลักเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงก๊าซฯ และมีความยืดหยุ่นในการจัดหาเชื้อเพลิง ก๊าซฯ โดยเสรีที่ไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า
หลังจากการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ได้รับทราบความก้าวหน้าของการจัดทำสัญญา DCQ ดังกล่าว โดยสั่งการให้ ปตท.และ กฟผ. ไปเจรจารายละเอียดบางประเด็นให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการลงนามสัญญา Global DCQ ได้ภายในปีนี้ จากนั้นขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการ กฟผ. อัยการสูงสุด กบง. และนำเสนอ กพช.ต่อไป.-สำนักข่าวไทย