ภูเก็ต 13 ธ.ค.- นักวิชาการ ม.อ.ภูเก็ต เผยผลวิจัย “จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ต 2020” พบเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวภูเก็ตอยู่ในภาวะชะลอตัวจาก 3 ปัจจัยหลัก “ค่าเงินบาทแข็ง-เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว-ท่องเที่ยวอิ่มตัว” แนะเร่งปรับตัวก่อนกระทบหนัก
ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เปิดเผยถึงการผลการวิจัยจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ตในปี 2020 ว่า ฝ่ายวิจัยคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบสัญญาณเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตกำลังจะเปลี่ยนไป โดยช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจังหวัดมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 6.67 ต่อปี ซึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนให้มีการขยายตัว แต่การขยายตัวนั้นเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาจนถึงปีนี้ 2019 ซึ่งเป็นปีที่หลายภาคส่วนเริ่มสัมผัสได้ถึงภาวะชะลอตัว และภาวการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน จากข้อมูลจำนวนผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 จนถึงปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าผู้โดยสารขาเข้าจังหวัดภูเก็ตโดยเฉลี่ยนั้นจริง ๆ แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 2561 แต่ตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อแทบทุกสกุลเงิน
“รอบ 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อแทบทุกสกุลเงิน หากพิจารณาสกุลเงินของนักท่องเที่ยวหลักในจังหวัดภูเก็ต พบว่า การแข็งค่าของเงินบาททำให้อำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวจีนลดลงถึงร้อยละ 21 อำนาจการซื้อที่ลดลงดังกล่าวส่งผลในวงกว้าง แม้กระทั่งสินค้าระดับไฮเอน ทางเราพบว่าแม้กระทั่งราคาเฉลี่ยห้องพักของโรงแรมระดับหรูในจังหวัดภูเก็ตที่มีราคาขายมากกว่า 10,000 บาทต่อคืน มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.03 อีกทั้งอัตราการเข้าพักเฉลี่ย ก็ลดลงถึงร้อยละ 10.16 ในไตรมาสที่ 3 เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน”
ดร.ชยานนท์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ต ข้อมูลล่าสุดยังคงชี้ให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ตยังครองแชมป์ด้านค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนต่อวันของผู้มาเยี่ยมเยือนเฉลี่ยวันละ 7,700 บาท แต่การกระจายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไป บทบาทของตัวกลางทางดิจิทัลนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น งานวิจัยล่าสุดพบว่าร้อยละ 64 ของของนักท่องเที่ยว Gen Y ในจังหวัดภูเก็ตจองห้องพักผ่านตัวกลางดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด
ดร.ชยานนท์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การท่องเที่ยวภูเก็ตถึงจุดอิ่มตัว เนื่องจากภูเก็ตใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมากว่า 3 ทศวรรษ งานวิจัยล่าสุดโดยใช้ Big data ของคณะฯ เริ่มชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด เนื่องจากมิติเรื่องความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ถูกท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอก (การแข่งขันจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นในเมืองรองหรือต่างประเทศ) และปัจจัยภายใน ซึ่งพบว่าชายหาดยอดนิยมหลายแห่งของจังหวัดภูเก็ตถูกกล่าวถึงด้านลบมากกว่าด้านบวก ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตในระยะสั้น แต่ปัจจัยทั้ง 3 ดังที่กล่าวไปนั้น อาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดภูเก็ตในเวทีเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวในกลยุทธ์ ต้องศึกษาว่าอำนาจการซื้อของลูกค้าหลักเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด รวมถึงทิศทางของค่าเงินบาท.-สำนักข่าวไทย