รัฐสภา 11ธ.ค.-“ปิยบุตร” อภิปรายเปิดญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไข รธน. ชี้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำบ้านเมืองถอยหลังเหมือนท่าเต้นไมเคิล แจ็กสัน ย้ำหากไม่แก้ไขอาจเกิดความขัดแย้งในอนาคต
หลังจากเสร็จสิ้นกระทู้ถามสดด้วยวาจาและกระทู้ถามทั่วไป สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอ และญัตติที่เรื่องคล้ายกันที่ ส.ส.ทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่วมเสนอรวม 6 ญัตติ
นายปิยบุตร ในฐานะผู้เสนอญัตติ แถลงเปิดญัตติ โดยย้ำว่าญัตตินี้เป็นญัตติร่วมกันของพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค เพราะมีความเห็นร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาต้องแก้ไขโดยเร็ว แต่เข้าใจว่าเงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมทำได้ยาก จึงควรริ่เริ่มเสนอให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วยหลักการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แท้จริง โดยกรรมาธิการที่มีองค์ประกอบจากบุคคลที่เห็นปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ส่งตัวแทนฝ่ายผู้ที่มีอำนาจมาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชักใบให้เรือเสีย จนแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะจะทำให้การตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้เป็นเพียงการซื้อเวลาหรือขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายปิยบุตร กล่าวว่ารัฐธรรมนูญต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชน และเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างความสมานฉันท์ความปรองดอง เป็นฉันทามติของคนในสังคม ประชาชนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมเอาไว้ ก็จะเป็นปัญหาและอาจนำไปสู่การรัฐประหาร ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นจะต้องมีหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เปิดโอกาสให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ ขณะเดียวกันหากปล่อยให้แก้ไขง่ายจนเกินไป เสถียรภาพความมั่นคงของรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาความชอบธรรมทั้งในแง่ที่มา เนื้อหา และกระบวนการ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่มีการวางกรอบไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เป็นผลพวงจากการรัฐประหารของ คสช. อาศัยประชาชนสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองภายใต้กระบวนการที่ชื่อว่าประชามติ แต่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงไม่สามารถบอกได้ว่าการออกเสียงประชามติมีมาตรฐาน เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ไม่สามารถใช้เสรีภาพแสดงออกได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ในมาตรา 279 ที่ฝังระบอบรัฐประหารไว้ ด้วยการรับรองการใช้อำนาจของ คสช. ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต มีการวางกลไกการสืบทอดอำนาจไว้ชัดเจนผ่านวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดยมีหน้าที่หลักเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรก และพยายามโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ปฏิรูปการเมือง แต่เมื่อบังคับใช้แล้วพบความจริงว่าทำให้การเมืองไทยถอยหลัง
หลังเลือกตั้งการเมืองถอยหลัง กลับไปปี 2521 สมัยที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะเลือกตั้งจะเสร็จแล้วต้องไปเชิญนายทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี และให้ข้าราชการประจำเข้ามามีบทบาทในการตรากฎหมาย ดังนั้นแทนที่ประเทศจะเดินหน้า แต่กลับถอยหลัง เหมือนท่าเต้นมูนวอล์คของไมเคิล แจ็กสัน
นายปิยบุตร ยังชี้ถึงปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจากภาวะรัฐบาลเป็นเสียงปริ่มน้ำ บริหารประเทศได้ยากลำบาก ทำให้เกิดการใช้เงินซื้อเสียงในสภาฯ ตามที่เป็นกระแสข่าว ด้วยเหตุที่คณะรัฐประหารอยากสืบทอดอำนาจ แต่รู้ดีว่าหากลงเลือกตั้งแบบปกติโดยไม่มีกลไกพิเศษคงแพ้แน่นอน จึงต้องวางกลไกต่างๆ จนเกิดความพิสดาร ทำให้เกิดพรรคการเมืองจำนวนมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ตนเองไม่เคยโทษหรือตำหนิพรรคการเมือง เพราะเชื่อว่าเป็นผลจากกติกาและโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่ดี ทำให้พฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองถอยหลัง ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีควรมีเนื้อหาที่แบ่งแยกอำนาจของสถาบันการเมืองต่างๆ อย่างมีดุลยภาพ ต้องมีเนื้อหาประกันสิทธิเสรีภาพ
ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องอย่างไรนั้น นายปิยบุตร ชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้เกิดการเมืองเสียงปริ่มน้ำ จนเกิดความกังวลถึงเสถียรภาพและการขับเคลื่อนนโยบาย เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลผสมจากหลากหลายพรรค จึงกระทบต่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปากท้อง ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญดี ก็จะส่งผลให้ได้รัฐบาลที่ดีมีเสถียรภาพ และสามารถแก้ปัญหาปากท้องได้ ส่วนที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการทำประชามตินั้น ก็เป็นการทำประชามติที่ไม่เป็นสากล ไม่แฟร์ และไม่เป็นธรรม พร้อมยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ในทางกลับกันหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญยิ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวาย และทำให้คนอดทนไม่ไหว ออกมาเรียกร้องมากขึ้น จึงควรเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ
นายปิยบุตร กล่าวปิดท้ายการเปิดญัตติด้วยว่า ตอนใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 มักมีการพูดกันว่านักการเมืองพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องมาคุยกันว่า นักการเมืองไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แต่ฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเป็นฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้เพราะประโยชน์ตัวเอง.-สำนักข่าวไทย