กรุงเทพฯ 2 ธ.ค. – สถานการณ์ระบาดโรคใบร่วงยางพารารุนแรงขึ้น ล่าสุดลุกลามถึงภาคใต้ตอนกลาง กยท.นำร่องใช้โดรนฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา 3 จังหวัด หวั่นฝนตกหนักและลมพัดแรงเอื้อเชื้อราก่อโรคกระจายเป็นวงกว้าง
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า โรคใบร่วงยางพาราลุกลามจากภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และสตูล มาถึงภาคใต้ตอนกลาง ได้แก่ ตรัง กระบี่ และพังงา โดยนราธิวาสพบการระบาดมากที่สุด 432,347 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 40,000 ราย ลำดับถัดมา คือ พังงา 10,000 ไร่ ยะลา 1,760 ไร่ ตรัง 418 ไร่ กระบี่ 300 ไร่ และสงขลา 101 ไร่ รวม 444,926 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 40,132 ราย
ทั้งนี้ กยท.และกรมวิชาการเกษตรทดสอบการใช้โดรนพ่นสารกำจัดเชื้อรา เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคใบร่วงในจังหวัดนราธิวาส ตรัง และพังงาในพื้นที่นำร่องจังหวัดละ 300 ไร่ ซึ่งสัปดาห์นี้จะติดตามผล จากที่ได้รับรายงานเบื้องต้นพบว่า แปลงที่ฉีดพ่นสารไปแล้ว เริ่มแตกกำลังติดตาม แต่ที่เป็นห่วง คือ ระยะนี้ฝนตกหนักและลมแรงเอื้อให้เชื้อรา Pestalotiopsis sp เจริญเติบโตและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ทาง กยท. ขอความร่วมมือเกษตรกรงดเคลื่อนย้ายวัสดุปลูกและใบยางพาราโดยเฉพาะจากจังหวัดที่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น โดยเป็นไปตามคำสั่งของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ กยท. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำคำแนะนำการป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ออกสำรวจ ติดตามพื้นที่การระบาด พร้อมให้คำแนะนำ ป้องกัน ให้ความรู้ พร้อมรายงานข้อมูลให้รับทราบต่อเนื่อง วัสดุปลูกและใบยางพารา
นายกฤษดา กล่าวว่า ทาง กยท.จังหวัดแนะนำให้เกษตรกรใช้สารเคมี โดยวิธีฉีดพ่นลงดินด้วยสาร thiophanate methyl และพ่นทรงพุ่มยางด้วยสาร benomyl hexaconazole thiophanate methyl triadimefon และ difenoconazole เพื่อกำจัดเชื้อ โดยใช้เครื่องฉีดพ่นกำลังสูงเนื่องจากทรงพุ่มนั้นสูงถึง 15 – 20 เมตร ซึ่งเกษตรกรรอ กยท.สนับสนุนอุปกรณ์ฉีดพ่น เพราะปกติชาวสวนยางพาราไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ มีใช้เฉพาะเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลเท่านั้น อีกทั้งโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ เกษตรกรจึงต้องการทราบผลสัมฤทธิ์จากการทดสอบของ กยท.ก่อนว่า สารใดมีประสิทธิภาพกำจัดโรคได้และต้องใช้ปริมาณเท่าไร ดังนั้นเกษตรกรจึงยังไม่ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราใด ๆ และเป็นเหตุให้โรคลุกลามเป็นวงกว้างขึ้น ขณะนี้ กยท.มีแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ป้องกันการระบาดเพิ่ม โดยกันพื้นที่เป็นแนวป้องกัน (Buffer Zone) ซึ่งหากเกษตรกรพบข้อสงสัยว่าจะมีการระบาดของโรคในพื้นที่ หรือต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดการระบาดและคำแนะนำสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด.-สำนักข่าวไทย