ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 22 พ.ย.- องค์คณะอุทธรณ์คดีนักการเมืองพิพากษายืน ยกฟ้อง “ทักษิณ” พ้นข้อกล่าวหา ม.157 ตั้งคลังแทรกแซงฟื้นฟูทีพีไอ ฟังไม่ได้ว่าเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ขณะที่ การเสนอชื่อคนบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ทุกฝ่ายยินยอม ถือว่าคดีนี้เป็นที่สิ้นสุดแล้ว
ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วันนี้ (22 พ.ย.) องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน ที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อธ.อม.4/2561 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ยกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 จำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหาเมื่อปี 2546 นายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ และจำเลยร่วมกับ ร.อ.สุชาติ ยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน และเป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ เป็นผู้บริหารแผน
คดีนี้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง นายทักษิณแบบไม่มีตัวจำเลย เมื่อปี 2561 เนื่องจากหลบหนีคดีอื่นอยู่ในต่างประเทศ และศาลพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ตามขั้นตอน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 มาตรา 28, 33, 59 ซึ่งศาลออกหมายจับนายทักษิณโดยชอบแล้ว แต่ไม่ได้ตัวมาศาล ชั้นพิจารณาจำเลยไม่มาศาล ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และเป็นสำนวนคดีแรก ในจำนวน 4 สำนวนที่อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ยื่นพิจารณาคดีไต่สวนลับหลังจำเลยตาม วิ อม.ใหม่ แล้วศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง
ขณะที่ วันนี้ มีเพียงผู้แทน ป.ป.ช.โจทก์ เดินทางมาศาล ซึ่งศาลอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟัง และถือว่าจำเลยรับทราบคำพิพากษา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาประเด็นที่ ป.ป.ช.โจทก์ยื่นอุทธรณ์แล้ว เห็นว่า แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรง ให้อำนาจกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ลูกหนี้ก็ตาม แต่กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึง การพยุงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิดความเสียหายมากจนยากแก่การแก้ไข
การเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของ ทีพีไอ ซึ่งประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากทีพีไอไม่สามารถฟื้นฟูได้และตกเป็นผู้ล้มละลาย กิจการเหล่านั้นอาจหยุดชะงัก ประเทศชาติและประชาชนย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พฤติการณ์ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วน ที่กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการ เมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ กระทรวงการคลังจึงเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอได้
ส่วนที่ ป.ป.ช.โจทก์ อุทธรณ์ว่า นายทักษิณ จำเลย เป็นผู้ริเริ่มผลักดันสั่งการ และเป็นตัวการร่วม รวมถึง ไม่ทักท้วงการพิจารณาของ ครม.เพื่อเปลี่ยนจากวาระเพื่อทราบ เป็นวาระเพื่อพิจารณา มีผลให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ โดยมีเจตนาครอบงำกิจการของทีพีไอ กับเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องนั้น ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยเชิญตัวแทนของเจ้าหนี้และผู้บริหารของทีพีไอเข้าหารือ ที่บ้านพิษณุโลก เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ และการตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่เท่านั้น แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เลือกกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามข้อเสนอของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับเหตุในคดีนี้
อีกทั้ง ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่ตั้งบริษัท บริหารแผนไทย จำกัด เป็นผู้บริหารแผน ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยเห็นควรขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน หากกระทรวงการคลังยินยอม ซึ่งในท้ายที่สุดที่ประชุมเจ้าหนี้และทุกฝ่ายยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนข้ออ้างเกี่ยวกับการครอบงำกิจการของทีพีไอ โดยอ้างคำกล่าว “นายอยากได้” คำว่า “นาย” หมายถึงจำเลย ผู้ที่พูดข้อความคือ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ ไม่ใช่จำเลย จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย และส่วนที่จำเลยเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของทีพีไอ เป็นเพียงการเสนอความเห็นเบื้องต้นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเรื่องที่นำมาปรึกษาเท่านั้น และจะได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง
เมื่อไม่ปรากฏว่า นายทักษิณ จำเลย เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ หรือการบริหารกิจการ หรือเข้าไปรับโอนถือครองหุ้นของทีพีไอ จึงรับฟังไม่ได้ว่า การเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของจำเลย เป็นการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง
สำหรับข้ออ้างที่ว่า การขายหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอให้แก่หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กระทรวงการคลังคืนเงินค่าจ้างบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ที่บริหารจัดการกิจการทรัพย์สินของทีพีไอ ให้แก่ทีพีไอ ทำให้ทีพีไอและกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอแล้ว หากทีพีไอหรือกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายอย่างไร ทีพีไอหรือกระทรวงการคลังก็อาจไปว่ากล่าวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
เมื่อไม่ปรากฏในทางไต่สวนว่า จำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นหรือมีพฤติการณ์ที่บ่งชี้ได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษ ประสงค์ต่อผลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามฟ้อง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของ ป.ป.ช.โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว ผลคดีจึงถือเป็นที่สุด ยุติดตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยนายทักษิณ ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในกรณีดังกล่าว ขณะนี้คดีดังกล่าวถือเป็นคดีเดียวที่ศาลฎีกาฯ และองค์คณะวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้อง
สำหรับ 4 สำนวน ที่อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2550-2551 และภายหลังยื่นขอพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ตามกฎหมายใหม่ปี 2560 ประกอบด้วย คดีกล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่ยกฟ้อง เมื่อวันที่ 30 ส.ค.62 คดีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ให้รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มชินคอร์ป ให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา คดีกล่าวหาดำเนินโครงการออกสลากพิเศษหวยบนดินโดยมิชอบ ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และคดีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจเครือชินคอร์ปฯ รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ในกระบวนไต่สวนพยานโจทก์ . – สำนักข่าวไทย