มหาสารคาม 21 พ.ย.- “พล.ต.อ.วิระชัย” รอง ผบ.ตร. ลงมหาสารคามตามคดีอ้างตัวเจ้าหน้าที่จับลิขสิทธิ์ ระบุเป็นเคสที่ชัดเจน 3 ผู้เสียหายถูกลวงให้ผลิต และถูกเรียกเงินนับแสนบาทแลกเปลี่ยนไม่เอาเรื่อง สุดท้ายจ่ายไปหลักหมื่นบาท ล่าสุดศาลออกหมายจับ 2 ผู้แอบอ้างแล้ว
พ.ต.ท.วุฒิ ศรีวิลัย รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.เมืองมหาสารคาม เปิดเผยว่า กรณีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากถูกบุคคลแอบอ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์กรรโชกทรัพย์ เพื่อให้จบเรื่องเป็นเงิน 50,000 บาท ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำผู้เสียหายทั้ง 3 คนเรียบร้อยแล้ว จากนั้นได้ขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับ 2 ราย ในข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวถือเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง
ล่าสุด 16.00 น. (21 พ.ย.) ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามคดีนี้ โดยได้สอบถามข้อมูลกับ 2 ผู้เสียหายทราบว่าผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับนั้นได้ให้ผลิตกล่องไม้ติดตัวการ์ตูนรูปโดเรม่อน ซึ่งผู้เสียหายไม่เคยผลิตมาก่อน แต่ถูกล่อให้ผลิต จากนั้นวันที่ 19 สิงหาคม 2562 นัดส่งสินค้าที่ห้างแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม เมื่อส่งสินค้าและจ่ายเงินเสร็จ จึงแสดงตัวอ้างว่ามาจากบริษัทลิขสิทธิ์ และนำตัวมาที่ ชั้น 2 ของ สภ.เมืองมหาสารคาม ก่อนเรียกเงิน 200,000 บาท แต่ตกลงจ่ายเงินกันที่ 50,000 บาท ต่อมาวันที่ 12 พ.ย. ผู้เสียหายได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.วุฒิ ศรีวิลัย รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.เมืองมหาสารคาม ให้ดำเนินคดีข้อหากรรโชกทรัพย์กับผู้ต้องหาทั้งสอง
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า คดีนี้มีผู้เสียหาย 3 ราย ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับมีการแอบอ้างว่าเป็นตำรวจด้วย และการลงพื้นที่ในวันนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี ขณะนี้ได้ออกหมายจับ 2 ราย คือ นายภูมิภากร ถินสุวรรณ์ กับนายพิพล โตตันติกุล ซึ่งคดีนี้เกิดจากการปกป้องสิทธิ์ของตนเองที่ผู้เสียหายเมื่อทราบว่าตนเองถูกล่อให้กระทำผิด จึงได้เดินทางเข้าแจ้งความ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 2 รายตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มูลค่าสินค้าที่ถูกล่อให้ผลิตก็ไม่ได้มาก ราคาไม่กี่ร้อยบาท และล่อให้ผู้เสียหายติดภาพตัวการ์ตูนโดเรม่อนที่กล่องไม้แล้วจับกุม ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นตำรวจ อีกทั้งยังเรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท แต่ตกลงกันได้ที่ 50,000 บาท พฤติการณ์ดังกล่าวมีความผิด 4 ข้อหา คือ 1.แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 2. ไม่มีอำนาจจับกุม เป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ ไม่มีอำนาจจึงมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพและเสรีภาพ 3. เรียกร้องทรัพย์สินเงินทอง พูดจาข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงิน ทำให้ผู้เสียหายนั้นเกรงกลัว และ 4 แจ้งความเท็จ โดยการอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าผู้เสียหายไม่ได้มีการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน ไม่เคยโพสต์ ไม่ได้ทำ ไม่ได้ขาย แต่ผู้ต้องหามาลวงให้ผลิต ให้ทำ ให้ขาย แล้วไปจับกุม ชัดเจนว่าถูกล่อให้กระทำผิด ดังนั้น จึงต้องลงพื้นที่มาติดตามคดีด้วยตัวเอง.-อ.001