กรุงเทพฯ 9 พ.ย.- นักวิชาการรัฐศาสตร์ ชี้ หาก “อภิสิทธิ์” นั่งประธาน กมธ.ศึกษาแก้รธน.อาจพบแรงเสียดทางจากรัฐบาล แต่หาก “สุชาติ” นั่งประธาน อาจไม่เกิดการมีส่วนร่วมของสังคม พร้อมระบุ หมดยุคให้คนกลางอย่าง “บวรศักดิ์” นั่งประธานแก้ รธน.แล้ว
นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้มีปรากฎ 3 รายชื่อชิงตำแหน่งประธานกรรมาธิการว่า ชื่อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะเป็นนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล แต่สิ่งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์คือ การร่วมรัฐบาลครั้งนี้เพื่อเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยการฟื้นฟูความนิยมของพรรคขึ้นมา สังเกตได้จากการส่งนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ และสร้างผลงานในการร่วมรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการสร้างความนิยม จึงต้องมีส่วนร่วมในการร่างกฎกติกา และต้องสร้างพื้นที่ให้กับนายอภิสิทธิ์ เหมือนกับที่พรรคอนาคตใหม่ส่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคไปดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จึงได้มีชื่อของนายอภิสิทธิ์ออกมาในขณะนี้
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ขณะที่พรรคพลังประชารัฐนั้น จะให้พรรคร่วมรัฐบาลมีบทบาทนำในการแก้รัฐธรรมนูญก็คงจะไม่ได้ จึงเห็นชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ที่แม้ว่าจะไม่ชำนาญเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ในพรรคพลังประชารัฐมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรทางการเมือง พรรคพลังประชารัฐจึงไม่มีตัวเลือกทางการเมืองมากนัก ส่วนชื่อของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโร ก็ถือเป็นชื่อของคนกลาง เพราะมีภาพลักษณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวมองว่า การให้คนกลางในการทำหน้าที่นั้นไม่สำคัญสำหรับสังคมไทยในขณะนี้แล้ว ไม่เช่นนั้น จะเหมือนว่าความขัดแย้งยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ดังนั้น การที่มีชื่อออกมาเช่นนี้ ก็เชื่อว่า เป็นการโยนหินถามทาง เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้พิจารณา
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า หากนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งประธาน ก็อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญราบรื่น เพราะนายอภิสิทธิ์มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน มีแนวคิดทางวิชาการเป็นระบบ แต่ประเด็นใหญ่อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลและไม่ใช่แกนหลัก การที่มีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจได้รับแรงเสียดทางจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคของพรรคที่จะชูธงนายอภิสิทธิ์ แต่หากเป็นนายสุชาติ จะเรียกว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงพิธีกรรมก็คงจะไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่อาจไม่เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง อาจหยิบยกแก้เฉพาะที่เป็นปัญหากับรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ โดยที่สังคมไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ และหากเป็นนายบวรศักดิ์ ที่เป็นคนกลาง ก็สะท้อนภาพให้เห็นว่าสังคมไทยวนอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต้องอาศัยโซ่คล้องกลางมานั่งเป็นหัวโต๊ะ ไม่ได้คลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในสังคม ส่วนตัวมองว่า หมดเวลาการมีคนกลางแล้ว หากให้คนกลางกำหนดกติกา สุดท้าย กติกาจะไม่ได้เกิดจากคู่ขัดแย้งที่ร่วมกันกำหนด.- สำนักข่าวไทย