ก.แรงงาน 27 ต.ค.- รมว.แรงงาน เชื่อกรณี สหรัฐตัดสิทธิ์ GSP น่าจะมาจากสิทธิความเท่าเทียมในแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการให้เทียบเท่ากับแรงงานไทย เตรียมหารือร่วมกับสถานฑูตสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหา
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน กรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) ของไทยในอีก 6 เดือน โดยอ้างว่าประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลได้นั้น ว่า การอ้างดังกล่าว อาจจะมีส่วน เพราะกฏหมายแรงงานสากลในทุกประเทศคงไม่มีประเทศไหนที่ยึดเอาตามหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-ไอแอลโอ) มาแปล และก็เขียนกฏหมายตามทั้งหมด ในส่วนของไทยมีขั้นตอนมากมายที่ผ่านการพิจารณาจากหลายภาคส่วนแล้วมาเป็นอย่างดี ไม่ได้ยึดโมเดลของต่างชาติ มาใช้ เพราะบริบททางสังคม ขนบธรรมเนียมต่างกัน ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในไทย ต่างก็รู้ดีและรับทราบถึง แนวทางในการปฎิบัติตัวให้ถูกกฏหมายเป็นอย่างดี และทางรัฐบาลไทย ก็พยายามดูแลในการช่วยเหลือทุกด้านกับคนกลุ่มนี้อย่างดีที่สุด
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการคุ้มครองแรงงานทุกคนให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในการทำงาน บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมากของสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ในปี 2560 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังได้ปรับ สถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จากระดับเทียร์ 2 ประเทศที่ถูกจับตา มาเป็นเทียร์ 2 ประเทศที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และสหภาพยุโรปหรืออียู ประกาศปลดใบเหลืองไอยูยู ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานได้ให้สัตยาบันพิธีสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานภาคประมง เพื่อคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ประกันสังคม และความปลอดภัยในการทำงาน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ และยังได้พิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและกฎษฎีกา รวมทั้งรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
แต่สิ่งที่สหรัฐฯมองว่า ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือสิทธิของแรงงานข้ามชาติยังไม่เทียบเท่ากับแรงงานไทย ส่วนตัวมองว่าคงจะยอมไม่ได้ หากให้คนต่างด้าวได้ประโยชน์มากกว่าคนไทย ซึ่งในเอกสารของไอแอลโอ ที่ระบุมาเป็นแบบนั้น ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ ที่ผ่านมามีความพยายาม จัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ที่เป็นการร่วมแรงงานต่างด้าว หลาย 10 ล้านคน ซึ่งเป็นเช่นนี้จะสร้างอำนาจในการต่อรองอย่างมาก ซึ่ง ทางกระทรวงแรงงานก็เลยอนุญาตแค่ให้มี สหภาพแรงงานต่างด้าวในองค์กรและบริษัทเท่านั้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุอีกว่า เตรียมไปพูดคุยกับสถานทูตสหรัฐฯเพื่อชี้แจง แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน และการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้ ต้องรอทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ และก็พร้อมให้ความร่วมมือกับ 2 กระทรวง ในการแก้ไขปัญหา โดยยืนยัน ว่า กระทรวงแรงงาน จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อให้การดูแลคุ้มครองแรงงานทุกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากลต่อไป.-สำนักข่าวไทย