สำนักข่าวไทย24ต.ค.-จิตแพทย์แนะวิธีจัดการอารมณ์ พร้อมวอนสังคมอย่าเหมารวมพฤติกรรมรุนแรง คือผู้ป่วยจิตเวช แต่ให้เป็นตัวอย่าง หันมาสำรวจตัวเอง ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินเรื่องต่างๆ
นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี ‘หนุ่มแว่นหัวร้อน’ ว่า พฤติกรรมที่หนุ่มแว่นแสดงออกมา เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ทันทีว่า เป็นโรคจิตเวชหรือไม่ ต้องดูบริบทการก่อเหตุ ประวัติการรักษาในเชิงลึกก่อนแต่ที่เห็นพฤติกรรมจากคลิป ถือว่ามีลักษณะอารมณ์ที่ขึ้นรุนแรง โกรธแรงใช้คำพูดสับสนและพาดพิงไปทั่ว สามารถตัดสินได้ว่าเป็นลักษณะของอารมณ์โกรธที่เกินพอดีและรุนแรงมาก ทำให้เกิดผลลบต่างๆตามมา แต่หากพฤติกรรมลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นมากและเป็นนาน จนรบกวนตัวเอง คนรอบตัว โมโหในสิ่งที่คนอื่นรู้สึกปกติหรือโมโห โกรธเป็นสองเท่าของคนปกติ หรือถึงขั้นทำร้ายคนอื่น อาจเข้าข่ายจิตเวช ต้องเข้าสู่ขั้นตอนรักษา เจ้าตัวหรือคนรอบข้างต้องสังเกต หากเข้าข่ายจิตเวชต้องเข้าสู่กระบวน การรักษา เนื่องจากสาเหตุอีกครึ่งหนึ่งมาจากความผิดปกติของสมองในบางช่วง ต้องได้รับยาและปรับพฤติกรรม ลดการกระตุ้นจากคนรอบข้าง จะทำให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติ
นพ.บุรินทร์ กล่าวต่อว่า กรณีหนุ่มแว่นที่เห็นชัดคือการขาดภาวะควบคุมอารมณ์ เมื่อโดนกระตุ้นจะมีอารมณ์ปรี๊ดรุนแรง ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ใช้ภาษารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมแนะวิธีควบคุมอารมณ์ หากรู้สึกว่า เริ่มปรี๊ด ให้เพื่อนหรือคนอื่นเข้ามาช่วยจัดการ ไม่จัดการปัญหาด้วยวิธีรุนแรง เช่น กรณีหากให้แฟนช่วยจัดการปัญหา ก็จะไม่เกิดกรณีรุนแรง เพราะแฟนดูควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า
นพ.บุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้อ้างว่าเป็นโรคจิตเวชแล้วควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ บางครั้งนี้เรื่องของนิสัยและทัศนคติ หรือปมทางใจบางอย่างที่ถูกกระตุ้น ทำให้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม อีกทั้งอยากให้คนในสังคมเข้าใจเรื่องโรคจิตเวชมากขึ้นว่าเหตุใดผู้ป่วยถึงแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ อาจมีหลายสาเหตุ จะได้ไม่โกรธมากเกินไป เกิดกระแสดราม่าทางสังคม และจะได้ไม่เงิบตอนจบ พร้อมฝากสังคม เมื่อเจอเคสลักษณะนี้ ให้ทำ cpr ทางจิตเวช คืออยากให้ลองคิดหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร คิดด้านบวก ว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสอนอะไรกับเราบ้าง และสำนึกต่อสังคม หากตอบโต้ด้วยความรุนแรง จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
“การป่วยเป็นจิตเวช ไม่สามารถใช้เป็นข้อยกเว้นทางกฏหมายได้เสมอไป ต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด อยากให้นึกถึงคนสภาพจิตใจไข้จิตเวช ไม่อยากให้เหมารวมว่า คนที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ ป่วยเป็นจิตเวชทุกราย กรณีนี้ถือว่าเป็นตัวอย่าง ของการหันมาเช็คตัวเองว่า ตัวเรามีส่วนทำให้เรื่องแย่ลงหรือเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคจิตเวชหรือไม่ พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการดูแล และไม่ใช้ความโกรธในการตัดสินเรื่องต่างๆ” นพ.บุรินทร์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย