โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา 21 ต.ค.-“อนุทิน” มอบ 5 นโยบายบริหาร กองทุนบัตรทอง ปี 63 เน้น เท่าเทียม ประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม หัวใจสำคัญหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือทุกภาคส่วน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับทิศทางในอนาคต” มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
โดยก่อนที่จะมีการประชุม นายอนุทินได้นำเจ้าหน้าที่ออกกำลังกาย ด้วยท่าชกมวยไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า
นายอนุทิน กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) เน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และผลสัมฤทธิ์ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และ สปสช. เพื่อให้การดูแลสุขภาพคนไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทุกระดับและทุกมิติ พร้อมติดตามการใช้งบประมาณให้มีเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการดำเนินการในพื้นที่ ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขจังหวัดสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และหน่วยบริการล้วนมีความสำคัญ ต้องเข้าใจนโยบายและการบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรมมต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน
ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพ เป็นธรรม ไม่ล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพ จนเป็นที่ยอมรับชื่นชมจากนานาประเทศและให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดจากการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งผู้จัดบริการ ภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้ดูแลจัดการกองทุน ตั้งแต่เริ่มก่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545 และพัฒนาต่อยอดจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ในปี 2563 นี้
นายอนุทิน กล่าวว่า ความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยวันนี้ ยังมีความท้าทายจากสถานการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและการบริหารจัดการกองทุนฯ ที่รออยู่ อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดจำนวนลงของเด็กเกิดใหม่ โรคภัยเพิ่มขึ้นของโรคภัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม สารเคมี และมลพิษต่างๆ รอบตัว เป็นต้น ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านสุขภาพของคนไทย ภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าภายใต้กองทุนบัตรทอง คนไทยทุกคนต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดี รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ไม่ต้องร่วมจ่าย บนหลักการคือ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ภายใต้ 5 นโยบายสำคัญ ดังนี้
1. กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของดูแลสุขภาพตนเอง อาทิ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหรือเจ็บป่วย ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งกับประชาชนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
2. จัดระบบการคลังด้านสุขภาพที่ยั่งยืน (Sustainability) มี 2 ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.2 และรายจ่ายรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 16.7แม้ว่าขณะนี้ตัวชี้วัดของประเทศจะยังไม่เกินเป้าหมาย แต่ควรเร่งรัดหามาตรการรองรับ โดยเฉพาะการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืน
3. การจัดบริการให้เพียงพอด้วยการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ การดำเนินนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยผู้ป่วยรับยาร้านยาใกล้บ้านที่ช่วยลดการรอคอย เพิ่มการให้คำปรึกษาโดยเภสัชกรเพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสม เป็นต้น การใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีเพื่อนัดตรวจ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง
4. การลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิประโยชน์และคุณภาพการบริการของ 3 กองทุน เปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในประเด็นที่ยังเป็นปัญหา อาทิ การร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่ยังขาดความชัดเจน การกระจายบริการสุขภาพสู่ในพื้นที่ชนบทและเขตเมืองที่เหมาะสม และดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น
5. เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการกองทุนและจัดการทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ กำลังคน พร้อมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ให้กับประชาชน เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น
“ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม เป็นกลไกสำคัญของการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ความสำเร็จรวมทั้งความยั่งยืนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนและทุกภาคส่วนในการช่วยคิด ช่วยสร้าง ช่วยกันแก้ปัญหาอุปสรรค เช่นเดียวกับการประชุมในวันนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นหลักประกันด้านสุขภาพที่มั่นคงให้กับประชาชนตลอดไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว.-สำนักข่าวไทย