กรุงเทพฯ 19 ต.ค.-มีการเสนอทางแก้ปัญหาเร่งด่วน หลังในรอบปีนี้มีพนักงานสอบสวนที่ถูกย้ายมาจากสายงานอื่นเครียดจนฆ่าตัวตาย ทั้งเรื่องทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ หลักสูตรอบรม การกำหนดหลักเกณฑ์ผู้เป็นพนักงานสอบสวน และให้ สตช.คืนแท่งพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด
เอกสารข้อมูลของคณะทำงานวิจัย และพัฒนางานสอบสวน ของ สตช.ฉบับนี้ ถูกส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. โดยเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงปัญหาพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย เพราะถูกเปลี่ยนสายงาน ใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า ตามที่มีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งสอบสวน หรือการยุบแท่งพนักงานสอบสวน ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญงานสอบสวนหายไป 800 ตำแหน่ง จึงต้องแต่งตั้งตำรวจสายงานอื่นมาทำหน้าที่แทน แต่กลับพบว่าตำรวจเหล่านั้น ไม่มีทักษะงานสอบสวนมาก่อน จนหลายคนเกิดความเครียด หาทางออกไม่ได้ และเป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตาย โดยมีการเสนอให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
หนึ่งในคณะทำงานวิจัย และพัฒนางานสอบสวน เสนอว่า ควรมีหลักเกณฑ์คัดเลือกคนมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานสอบสวนตามหลักการเดิม คือ ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ อายุไม่เกิน 35 ปี ต้องผ่านการฝึกอบรมทำสำนวนไม่น้อยกว่า 4 เดือน แต่ที่สำคัญต้องมีทักษะการพิมพ์ดีดโดยใช้คอมพิวเตอร์ เพราะที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ถูกโยกย้ายมามักพิมพ์คอมพิวเตอร์ไม่ได้ จนเกิดความเครียด
การทำสำนวนยุคปัจจุบันต้องใช้คอมพิวเตอร์อย่างเดียว พนักงานสอบสวนไม่เหมือนศาลที่มีเจ้าหน้าที่พิมพ์คำเบิกความในศาล ศาลเพียงแค่อัดเทปลงไป แต่พนักงานสอบสวนต้องซักถามเอง สอบเอง พิมพ์เอง
อีกหนึ่งข้อเสนอ คือ ให้ปรับปรุงหลักสูตรการอบรมเป็นพนักงานสอบสวนของสถาบันส่งเสริมงานสอบสวนใหม่ ทั้งภาคทฤษฎีที่จะต้องเน้นเรื่องการเขียนสำนวนให้มากขึ้น เพิ่มเวลาจากที่จะต้องเรียนรู้เรื่องทฤษฎี 4 เดือน และฝึกที่โรงพัก 4 เดือน ให้เพิ่มเป็น 2 – 3 ปี เพื่อให้พนักงานสอบสวนที่ฝึกจบ และได้ใบประกาศลงพื้นที่ทำงานได้ทันที เพราะปัญหาที่พบขณะนี้ กว่าบางคนจะเชี่ยวชาญก็ใช้เวลานานเป็นปีๆ
เหตุการณ์การฆ่าตัวตายของพนักงานสอบสวน ตั้งแต่มีการออกคำสั่งยุบแท่งพนักงานสอบสวนเมื่อปี 59 เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกพนักงานสอบสวนกังวลว่า จะไม่เติบโตในสายงานเช่นเดิม แต่ในช่วงปีนี้เหตุฆ่าตัวตายเริ่มเป็นพนักงานสอบสวนที่ถูกย้ายสายงาน เพราะเกิดความเครียดจากการต้องมาทำงานที่ตัวเองไม่ถนัด แม้ ผบ.ตร. เรียกประชุมพนักงานสอบสวนจากทั่วประเทศกว่า 300 คน เพื่อรับฟังปัญหา และเปิดโอกาสให้ตำรวจสายสอบสวน ที่ถูกแต่งตั้งมาจากสายงานอื่น ขอย้ายกลับไปทำงานในสายที่ตัวเองถนัดได้ แต่มีการระบุว่า นโยบายนี้เป็นเพียงการสำรวจข้อมูล
พนักงานสอบสวนมองว่า การจะแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน คือ การให้ สตช.คืนแท่งพนักงานสอบสวน และกำหนดเส้นทาง โครงสร้างให้ชัดเจน ตั้งแต่รองสารวัตรจนถึงผู้บังคับการ เรื่องการประเมินคุณสมบัติ ทั้งคุณภาพ และปริมาณงานสำนวน รวมถึงอายุงาน และสามารถสอบเลื่อนตำแหน่งได้ ซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวนเชี่ยวชาญ และเติบโตได้ในสายงานของตัวเอง แก้วิกฤติพนักงานสอบสวน หนึ่งในปัญหาสำคัญของตำรวจที่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• แก้วิกฤติพนักงานสอบสวน ตอน 1
• แก้วิกฤติพนักงานสอบสวน ตอน 2