กรุงเทพฯ 17 ต.ค.-เอ็มโอยูแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านน้ำทุกมิติ รมต.เทวัญนำทีม สทนช.เยือนกรุงบูดาเปสต์ ร่วมเวทีประชุมสุดยอดผู้นำด้านน้ำบูดาเปสต์ 2019 ชูแผนป้อง 3 มิติวิกฤติด้านน้ำ พร้อมลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือด้านน้ำไทย–ฮังการี เล็งตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายเคาะโครงการร่วมมือด้านน้ำ
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำด้านน้ำบูดาเปสต์ 2019 (Budapest Water Summit 2019) และลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงมหาดไทยของฮังการี ณ กรุงบูดาเปสต์ เมื่อวันที่ 13-16 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำด้านน้ำบูดาเปสต์ 2019 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “การป้องกันวิกฤติด้านน้ำ” หรือ “Preventing Water Crisis” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประชาคมโลกจากภาคการเมือง ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ภาคธุรกิจ การเงินและนักวิชาการ ในการหาแนวทางร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านน้ำที่กำลังจะเกิดขึ้นและที่เกิดขึ้นแล้ว โดยพิจารณาจาก 3 เรื่องหลัก คือ 1) วิกฤติการขาดแคลนน้ำ 2) วิกฤติน้ำมากเกินความต้องการ และ 3) วิกฤติน้ำเสีย/น้ำปนเปื้อนมลพิษ นอกจากจะมีการจัดเสวนา/อภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าเทคโนโลยีด้านน้ำของภาคเอกชนฮังการี โดยมีภาคเอกชนชั้นนำเข้าร่วมกว่า 30 ราย ซึ่งในโอกาสนี้ประเทศไทยได้ใช้เวทีนี้ในการแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เช่น ด้านคุณภาพน้ำ น้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด รวมถึงแนวทางความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำระดับภูมิภาคโดยให้คำนึงถึงน้ำที่ต้องใช้ร่วมกันด้วย
นายเทวัญ กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่าง สทนช.กับกระทรวงมหาดไทยฮังการี ร่วมกับนายชานดอร์ พินแตร์ (Sandor Pinter) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยฮังการี และการหารือระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศด้วยว่า ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายโดยเร็ว เพื่อเร่งรัดการจัดทำแผนงานและโครงการความร่วมมือด้านน้ำภายใต้เอ็มโอยูที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดการน้ำแบบบูรณาการทั้งน้ำท่วม–น้ำแล้ง การจัดการน้ำเสียและการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลที่ฮังการีมีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้เลขาธิการ สทนช. เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานกับฝ่ายฮังการี เพื่อนำไปสู่กรอบแนวทางความร่วมมือด้านน้ำของสองประเทศที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนโดยเร็วต่อไป ขณะเดียวกัน ฝ่ายฮังการีได้เสนอให้ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโท–เอกด้านน้ำแก่ประเทศไทยให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของฮังการีอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย