16 ต.ค.-“ชาดา ไทยเศรษฐ์” กระตุ้นกระทรวงเกษตรฯต้องปฏิรูป พร้อมตำหนิบางหน่วยงานทำตัวเหมือนเซลส์ขายสารเคมี ขณะที่สมาคมการเกษตรฯ 2 แห่ง โต้การแบน 3 สารอาจเสียงบค่าทำลาย 5,000 ล้านบาท และคณะทำงาน 4 ฝ่ายถูกอุปโลกน์ขึ้นมา
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย โพสต์ Facebook ส่วนตัวว่า ขอพูดเรื่องแบนสาร 3 ตัว ที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการอยู่ และมีหลายคนเตือนผมว่า ผลประโยชน์มันเยอะ ทำยากไม่สำเร็จหรอกและอันตราย ซึ่งผมเคยบอกให้เอาเหตุผลมาแต่ขอให้อยู่บนผลประโยชน์สุขภาพของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว และอย่าใช้วิธีทำลายล้างกัน “อย่ามาทำอะไรน้องสาวผมนะ!!!
นายชาดาฯ โพสต์ว่า ดูไปดูมามันฝังผลประโยชน์กับระบบราชการลึกมาก มีนายทุนครอบงำ ทำให้ข้าราชการบางคนทำเหมือนกับว่าถ้าเลิกใช้สาร 3 จะทำให้ประเทศล่มสลาย อีกทั้งข้าราชการกระทรวงเกษตรฯบางคน หน่วยงานบางหน่วยงาน ทำตัวเป็นเซลส์บริษัทขายสารเคมี เรื่องทั้งหมดเกิดจากกระทรวงเกษตรฯ ขาดสำนึกในการทำหน้าที่เพื่อเกษตกร และองค์กรนี้ต้องปฏิรูปใหม่
ส่วนความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแบน 3 สารทั้งคลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และ ไกลโฟเซต ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) ได้ลงนามหนังสือแจ้งมติคณะทำงาน 4 ฝ่ายที่มีมติเอกฉันท์ให้สารเคมี 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผล 1 ธันวาคมนี้ ก่อนมอบให้ปลัดกระทรวงฯส่งหนังสือไปยังปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา หลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะประชุมวันที่ 22 ตุลาคมว่า จะบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระหรือไม่ และจะมีมติอย่างไร
ด้านสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย วันนี้ (16 ต.ค.) มีการแถลงข่าวเรื่อง “แบน 3 สารเคมีเกษตร ถามเกษตรกรหรือยัง?” โดย น.ส.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผอ.การบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ระบุว่า สมาคมฯและเกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลักขอคัดค้านมติดังกล่าว เพราะคณะทำงานที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวมีแต่กรรมการที่คัดค้านการใช้สารเคมี แต่ไม่มีตัวแทนเกษตรกรและตัวแทนผู้นำเข้าร่วม และการประกาศยกเลิกจะทำให้เกษตรกรไม่มีสารใดมาทดแทน และสต็อกสาร 3 ชนิดมีปริมาณเหลือ 40,000 ตัน ในจำนวนนี้อยู่ในมือเกษตรกร 10,000 ตัน ต้องใช้งบรัฐบาลทำลายสารที่คงค้าง 4,000 – 5,000 ล้านบาท ดังนั้น หากรัฐจะมีมติยกเลิกจริง ควรให้เวลาอย่างน้อย 2 ปี
ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันฯ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอุตสาหกรรม เตรียมยื่นศาลปกครองขอคุ้มครองฉุกเฉิน หากมีการแบนสาร 3 ชนิด ยืนยันว่าข้อมูลเอ็นจีโอที่นำออกมาเผยแพร่เป็นข้อมูลเท็จ และคณะทำงานที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวถูกอุปโลกน์ขึ้นมา เพื่อกดดันคณะกรรมการวัตถุอันตราย ส่วนสารเคมีที่คาดว่าจะนำมาทดแทนพาราควอตและไกลโฟเซต คือ “กลูโฟซิเนต” ถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ราคาสูงกว่า “พาราควอต” จากถังละ 500 เป็นประมาณ 2,500 บาท และต้องใช้เพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่ม 12-14 เท่าตัว.-สำนักข่าวไทย