ทำเนียบรัฐบาล 16 ต.ค. – ครม.ไฟเขียวโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารา ยางแผ่นคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม ยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย 23 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมอนุมัติ 4 โครงการช่วยเพิ่มการใช้ยางในประเทศ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (15 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะที่ 1 ด้วยงบประมาณรวม 24,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ และมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 1.4 ล้านคน ที่ปลูกยางพารารวม 17 ล้านไร่
โครงการประกันรายได้เกษตรกรระยะที่ 1 กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ไว้ที่ 6 เดือนเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยประกันรายได้ในยาง 3 ชนิดคือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด DRC 100% ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย DRC 50% 23 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ไว้ที่ 240 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีหรือ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางกำหนดโดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปเปิดกรีดแล้วสูงสุดท้ายละไม่เกิน 25 ไร่
ทั้งนี้ การจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรกำหนดจ่ายให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดจ่าย 2 เดือน 1 ครั้ง โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง ดังนี้ ประกันรายได้เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2562 จ่ายงวดที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562 ถึงมกราคม 2563 จ่ายงวดที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2563 และประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2563 จ่ายงวดที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2563 การแบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวนจะได้ร้อยละ 60 และคนกรีดยางได้ร้อยละ 40 ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้ใช้เงินทุนของธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนและให้ธ.ก.ส.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัดไปตามความเหมาะสมเพื่อชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ ครม. ยังอนุมัติอีก 4 โครงการที่นำไปสู่การที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้และยกระดับราคายางพาราในประเทศ คือ ขยายวงเงินสินเชื่อ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ ให้แก่ผู้ประกอบการขั้นปลายน้ำ เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม เป็นต้น ให้มีการแปรรูปเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ตันเพิ่มเป็น 100,000 ตันต่อปี ระยะเวลาดำเนินโครงการเริ่มปี 2563-2569
นอกจากนี้ ยังอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เงินทุนหมุนเวียนผู้ประกอบกิจการยางแห้ง วงเงิน 20,000 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่มกราคม 2563 – เดือนธันวาคม 2564 จากเดิมจะสิ้นสุดเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งจะช่วยผลักดันราคายางหรือทำให้สูงกว่าต้นทุน ช่วยลดภาระงบประมาณจัดซื้อยางและจัการสตอกของรัฐบาล และช่วยดูดซับผลผลิตยางแห้งร้อยละ 11 จากผลผลิตยางแห้งทั้งปี 3.2 ล้านตัน ขยายโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาทออกไปอีก 4 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2567 โดยมีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ 1 เมษายน 63 ถึง 31 ธ.ค.2566 เพื่อสนับสนุน สินเชื่อแก่สหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา โดยกู้เงินจาก ธ.ก.ส. และขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐออกไปอีก ๓ ปี เริ่มตั้งแต่ ตุลาคม 2562 เดือนกันยายน 2565 โดยตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการกำกับดูแล และให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราหรือผลิตภัณฑ์ยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย และยางพาราของรัฐที่การยางเก็บไว้ ทำให้ภาครัฐใช้ยางพาราได้มากขึ้นดูดซับได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม . – สำนักข่าวไทย