ชลบุรี 11 ต.ค. – ซีอีโอ ปตท. ย้ำใน 10 – 15 ปี มีแค่ 3 สถานีแอลเอ็นจีก็เพียงพอ ด้าน รมว.พลังงานขีดเส้น ปตท.ทำแผนฮับแอลเอ็นจีภายใน 2 เดือน พร้อมสร้างความมั่นใจ ดูแลเสถียรภาพพลังงานแม้เกิดเหตุระเบิดเรืออิหร่าน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดย รมว.พลังงานระบุว่า ในส่วนของกรณีเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่านระเบิดที่ได้ส่งผลต่อสถานการณ์น้ำมันโลกทางกระทรวงได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยปริมาณน้ำมันสำรองของเรารองรับได้หากเกิดวิกฤติด้านการผลิตหรือขนส่งน้ำมัน ส่วนเรื่องราคาที่อาจผันผวนมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะช่วยรองรับได้
ทั้งนี้ จากการตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี พบว่า มีการควบคุมการรับส่งก๊าซระยะทางไกลแบบเรียลไทม์ (Real time) เพื่อให้การขนส่งก๊าซไปให้ลูกค้าตรงเวลา มีคุณภาพก๊าซตรงตามความต้องการด้วยความปลอดภัยและต่อเนื่องมั่นคง และเพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้มอบให้ ปตท.ทำแผนการเป็นฮับจำหน่ายแอลเอ็นจีในอาเซียนให้แล้วเสร็จใน 2 เดือนนี้เบื้องต้น ปตท. พร้อมขนส่งทั้งทางรถทางเรือให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน ทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป็นธุรกิจต้นน้ำอยู่คู่กับ ปตท. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 40 ปี จนปัจจุบันได้ขยายการจัดหา จัดจำหน่ายก๊าซฯ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และปัจจุบันได้มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค ตามนโยบายจากภาครัฐต่อไป
“จากที่ไทยมีสถานีรับส่งแอลเอ็นจีทั้งมาบตาพุดและหนองแฟบรวมรับได้ 19 ล้านตัน /ปีและกำลังจะก่อสร้างอีกแห่งตามแผนสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีสถานีแห่งใหม่ โดยเฉพาะ FSRU เกิดขึ้น ใน 10 – 15 ปีนี้ เราจะเสนอความเห็นแก่กระทรวงพลังงานใน 2 เดือนนี้” นายชาญศิลป์กล่าว
สำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจีของ ปตท. ในปีนีั้ ไม่มีแผนนำเข้าราคาสปอตแต่อย่างใด นำเข้าตามสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน โดยนำเข้ามาแล้ว 4 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ ปีนี้คาดอยู่ที่ 4, 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขยายตัวจากปีที่แล้วเล็กน้อย เป็นผลจากความต้องการใช้ภาคไฟฟ้าทรงตัวตามทิศทางขยายตัวของพลังงานทดแทน ส่วนการใช้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพราะมีการนำไปใช้ทดแทนน้ำมันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ก๊าซส่วนใหญ่ คือภาคไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, ขนส่ง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการเพียง 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จำนวนลูกค้า 400 ราย . – สำนักข่าวไทย