กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – กมธ.พลังงานหารือ รมว.พลังงาน พัฒนาระบบพลังงานประเทศ พร้อมแนะ กฟผ.เปลี่ยนแนวทางการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จากเดิมซื้อจำนวนมากช่วยราคา เปลี่ยนเป็นซื้อต่อเนื่องเพื่อช่วยด้านราคา
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงภายหลังคณะกรรมาธิการการพลังงานเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาระบบพลังงานของประเทศกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า ทางคณะกรรมาธิการการพลังงานหารือเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การช่วยเหลือราคาปาล์มน้ำมัน กรรมาธิการการพลังงานไม่เห็นด้วยกับการที่การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซื้อน้ำมันปาล์มจำนวนมากไปผลิตไฟฟ้า ทางกรรมาธิการการพลังงานต้องการให้แบ่งซื้อไม่มาก แต่มีความต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นและยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง
นายสนธิรัตน์ ชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการต่อเนื่องตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่ต้องการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันประสบปัญหาราคาตกต่ำ ส่วนกระทรวงพลังงานจากนี้ไปมีนโยบายที่จะเดินหน้าส่งเสริมให้มีการนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไบโอดีเซลมากขึ้น ทางคณะกรรมาธิการยังเสนอให้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งกระทรวงพลังงานชี้แจงว่ามีการดำเนินการอยู่แล้วภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กรรมาธิการการพล้งงานยังให้ความสำคัญเรื่องปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 โดยเสนอให้กระทรวงพลังงานเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้แจ้งว่ายินดีและพร้อมจะร่วมมือกับคณะกรรมาธิการการพลังาน โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเปลี่ยนเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยปรับเปลี่ยนไบโอดีเซล จาก B7 เป็น B10 สำหรับรถยนต์ทั่วไป พร้อมตั้งเป้าหมายให้มีการใช้ 57 ล้านลิตรต่อวันภายในไตรมาส 2 ในปี 2563 และส่งเสริมใช้ B20 สำหรับรถบรรทุก ด้านน้ำมัน B10 กระทรวงพลังงานจะยังคงมีการจำหน่ายต่อไปไม่เปลี่ยนแปลงสัดส่วนน้ำมันปาล์มที่ผสมในน้ำมันดีเซลลง โดยกระทรวงพลังงานจะควบคุมการใช้น้ำมัน B 100 พร้อมตรวจสอบการน้ำไปใช้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคน้ำมันปาล์ม ทางกระทรวงพาณิชย์จะดูด้านการบริโภค
ด้านน้ำมันเบนซิน กระทรวงพลังงานจะช่วยนำอ้อยและมันสำปะหลังมาผลิตเอทานอล เพื่อทำน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ด้านการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ทางกระทรวงพลังงานแจ้งกับกรรมาธิการการพลังงาน ว่า กระทรวงพลังงานจะเป็นหลักในการส่งเสริม Energy Storage และประกาศนโยบายร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า กระตุ้นการใช้รถไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตในประเทศ ซึ่งกรรมาธิการต้องการให้สนับสนุนให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเฉพาะการกระตุ้นการขนส่งสาธารณะให้ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยกรรมาธิการการพลังงานพร้อมให้ความร่วมมือทำงานร่วมกัน ด้านโรงไฟฟ้าชุมชน ทางคณะกรรมาธิการการพลังงานต้องการให้กระทรวงพลังงานช่วยกระจายรายได้และความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าไปสู่ประชาชนมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย