กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – คลังเผยยอดใช้จ่ายชิมช้อปใช้สัปดาห์แรกคึกคัก ยืนยันลูกหนี้กรุงไทย สินเชื่อทุกประเภทไม่ถูกหักเงินจาก 1 พันบาท เพื่อชำระหนี้เดิม
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า กรณีการแชร์ข้อมูลตามโซเชียล ระบุเงื่อนไขข้อตกลงและเงื่อนไข “ยินยอมให้ธนาคารมีสิทธิ์หักเงินจากบัญชีเงินฝากทั้งหมดทุกประเภทและทุกวงเงินผู้ขอใช้บริการที่มีอยู่ในธนาคาร เพื่อนำมาชำระหนี้ โดยธนาคารไม่ต้องแจ้งขอความยินยอมล่วงหน้าจากผู้ขอใช้บริการ” ข้อความดังกล่าวเป็นการเขียนสัญญาพื้นฐานของการทำสัญญาทุกประเภท รวมทั้งแอป “ชิมช้อปใช้” ซึ่งเปิดให้ประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่การร่วมโครงการดังกล่าวเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และเป็นโครงการของรัฐส่งเสริมสังคมไร้เงินสด เพื่อใช้จ่ายเงินกระจายออกไปทั่วประเทศ จึงไม่เข้าข่ายการหักเงินจากแอป “เป๋าตังค์” จากประชาชนสำหรับผู้เป็นลูกหนี้เดิม ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ส่วนบรรยากาศการออกเดินทางไปใช้จ่ายในต่างจังหวัดท้ายสัปดาห์ของผู้ลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” ในช่วงแรกพบว่าประชาชนสนใจออกไปใช้สิทธิ์ เพื่อใช้เงิน 1,000 บาทจำนวนมาก นับว่าเป็นสัญญาณดีในการกระจายเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งตรงตามเจตนารมย์ของทางรัฐบาลที่ต้องการเน้นให้ประชาชนออกไปใช้จ่ายตามแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองรอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน
ด้านนายยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และซีอีโอ ITAX กล่าวถึงกรณีที่โลกโซเชี่ยลแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ว่า เป็นข้อตกลงมาตรฐานที่ใช้กับแอปพลิเคชั่นกรุงไทย NEXT ซึ่งการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของธนาคารนั้น หากมองในแง่กฎหมาย คือ จะหักเงินเฉพาะค่าบริการที่มีค่าธรรมเนียม เช่น ค่า SMS หรือโอนทางไกล เป็นต้น ซึ่งในส่วนของโครงการชิมช้อปใช้มองว่าไม่น่ากังวล เพราะน่าจะเป็นบริการที่ไม่มีค่าธรรมเนียม จึงไม่มีการหักเงินแต่อย่างใด ส่วนประเด็นเงินกู้และหนี้จากบัตรเครดิตนั้น มองว่าไม่น่าเกี่ยวกับการหักค่าธรรมเนียมดังกล่าว
สำหรับประเด็นที่โลกโซเชี่ยลกำลังถกเถียงเรื่องที่รัฐบาลจะจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้สิทธิ์ 1,000 บาทนั้น นายยุทธนา กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วเลขบัตรประชาชน 13 หลักภาครัฐเป็นผู้ออกให้ ดังนั้น จึงมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงยังมีหน้าที่เรียกตรวจสอบได้อยู่แล้ว โดยกรมสรรพากรสามารถทำเรื่องให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลเพื่อเรียกตรวจสอบทรัพย์สิน หนี้สิน รวมถึงภาษีที่ค้างจ่ายได้อยู่แล้วเป็นปกติ.-สำนักข่าวไทย