กทม. 20 ก.ย. – หลังโลกโซเชียลได้ปลุกเรื่องราวมาตรฐานของกำไล EM สำหรับผู้ถูกศาลตัดสินคุมประพฤติ แต่กลับมาสามารถถอดออกได้ ไร้สัญญาณเตือน นำมาสู่การตรวจสอบของหน่วยงานต้นเรื่องอย่างกระทรวงยุติธรรม ล่าสุดผลสอบพบไม่ตรงสเปกจนต้องยกเลิกสัญญา และเรียกค่าปรับกับบริษัทให้เช่าเกือบร้อยล้านบาท
เปิดฉากอย่างเร้าใจกับมิติใหม่ประเทศไทย ในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ กำไล EM กับผู้ที่ถูกศาลตัดสินคุมความประพฤติ หวังลดความแออัดในห้องขัง โดยจะติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาตลอด24 ชั่วโมง ด้วยการให้ใส่กำไล มีลักษณะคล้ายนาฬิกาข้อมือที่เหนียวแน่น ทนทานยากต่อการถอดหรือทำลาย หากคิดเอาออกก็จะส่งสัญญาณไปยังศูนย์อีเอ็มเซ็นเตอร์ส่งเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม
กำไล EM เริ่มใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2562 ทุกอย่างราบรื่นเหมือนไม่มีอะไร แต่เดือนสิงหาคม มีเอกชนเข้าร้องเรียนถึงความผิดปกติกำไล EM ที่นำเข้าจากจีน และมีปัญหาในการใช้งาน เช่น ถอดออกได้โดยที่สัญญาณไม่เตือนตามกำหนด
เผือกร้อนโยนหารัฐมนตรีใหม่รุดไปทดสอบด้วยตัวเอง พบภาพบาดใจเห็นกับตาว่าเมื่อนำมือแช่ในน้ำสบู่ก็ดึงกำไล EM ออกมาได้ แถมใส่กลับเข้าไปใหม่ได้ขณะที่ยังล็อกสลักอยู่
ภาพดังกล่าวนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก่อนพบว่าไร้ประสิทธิภาพจริง! ผิดชัดใน 3 ประเด็น ทั้งถอดออกเองได้ ใส่แล้วเกิดแพ้ผื่นคัน และแจ้งเตือนบ่อยโดยไร้เหตุ ก่อนส่งเรื่องให้บริษัทที่ชนะการประมูลเร่งแก้ไข แต่ก็ไร้เสียงตอบรับ
กระทั่งวันนี้ตั้งโต๊ะแถลง ฉีกสัญญาเช่าใช้กำไล EM กับบริษัท ไม่จ่ายค่าเช่า 21 เดือน รวม 74 ล้านบาท พร้อมฟ้องเรียกค่าปรับคู่สัญญา 84 ล้านบาท ระบุชัดทำราชการเสียหายหนัก รวมถึงส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมให้ทราบถึงการยกเลิกสัญญาเช่ากำไล EM แล้ว
ปัจจุบันมีผู้ต้องใช้กำไล EM 500 คน จาก 4,000 เครื่อง ระหว่างนี้อาจต้องใช้วิธีการรายงานตัวหรือบำเพ็ญประโยชน์ ส่วนปีหน้าจะนำกำไล EM กลับมาใช้ต่อหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะตอนนี้ไม่มีงบประมาณ
ส่วนอนาคตขอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเดินไปทิศทางใด แต่ที่สำคัญต้องรัดกุมกับทีโออาร์และคู่สัญญา เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องอื้อฉาวเช่นนี้อีก. – สำนักข่าวไทย