วันที่ 18 กันยายน 2562 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ – จัดประชุม เพื่ออัพเดตความคืบหน้าเรื่องการปรับปรุงสนามแข่งขันที่จะใช้รองรับในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย ในช่วงเดือนมกราคม 2563 รวมถึงการหาสนามทดแทน สนาม สมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ การประชุมในครั้งนี้ พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย วิษณุ ไล่ชะพิษ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฝ่ายส่งเสริมการกีฬา) , ทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย , อำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, ประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัด อบจ.สงขลา ปฏิบัติหน้าที่แทน นายก อบจ. สงขลา และตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตัวแทนจากบริษัท เค.บี.เอ็ม เทคโนโลยีส์ จำกัด รวมถึง ตัวแทนจากสโมสร อย่าง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด
หลังการประชุม พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้เชิญตัวแทนของหน่วยงาน และ สโมสรที่จะมีส่วนในการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวแทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด”
“เนื่องจากสาเหตุที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่สามารถปรับปรุงสนาม สมโภช 700 ปี เชียงใหม่ ได้ทัน เพื่อที่จะใช้ในการแข่งขันฟุตบอลรายการดังกล่าว เราจำเป็นต้องพิจารณา สนามอื่นที่เป็นสนามของสโมสรมาทดแทน ในขณะเดียวกัน เราก็ให้ตัวแทนทุกหน่วยงาน ชี้แจงความคืบหน้า และความพร้อมในการปรับปรุงสนาม และก็ยืนยันถึงความมั่นใจ ว่าจะสามารถส่งสนามให้กับ เอเอฟซี ได้ทันกำหนดเวลา เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง การกีฬาแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึง สโมสรสมาชิก ทุกคนยืนยันว่า ถ้านอกเหนือสามสนามหลัก อย่าง ราชมังคลากีฬาสถาน, ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สโมสรที่ได้รับการเชิญมาในวันนี้ ก็พร้อมใจ และมั่นใจที่จะร่วมมือกับ สมาคมฯ ในการเตรียมสนาม ให้สามารถรองรับการใช้สนามในรายการนี้ เพราะทุกคนเข้าใจว่า รายการนี้เป็นหน้าตาของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ทำเพื่อชาติ ทุกสนามพร้อมให้การสนับสนุน ต้องขอขอบคุณองค์กร หน่วยงาน และสโมสรต่างๆ แทนแฟนบอลชาวไทย ที่ท่านพร้อมให้ความร่วมมือกับ สมาคมฯ เพื่อชื่อเสียงของประเทศไทย”
“ตอนนี้ก็ให้แต่ละสโมสร ทั้ง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ได้ชี้แจงศักยภาพ และรายละเอียดของแต่ละสนาม ว่ามีความจุ ไฟส่องสว่าง สิ่งที่เอเอฟซี ต้องการ คือ แต่ละสนามต้องสามารถปรับปรุงได้ทันกำหนด เวลา จากนี้ สมาคมฯ ก็ต้องประชุมเพื่อดูว่าสนามใดมีความพร้อม ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไข เพราะบางสนาม ก็ทำได้ไม่ทัน เราก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง”
“มาตรฐานของสนามที่จะมาแทนที่ สนามสมโภช 700 ปี เชียงใหม่ คือต้องมีความจุไม่ต่ำกว่า 10,000 ที่นั่ง, ห้องแต่งตัวมีจำนวน 4 ห้อง, ไฟส่องสว่างไม่ตำกว่า 1,800 LUX, การเดินทางจากโรงแรมที่พักไปสนามไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็มีรายละเอียดอีกมากมาย ทั้ง โรงแรมที่พัก ต้องมีระดับ 4-5 ดาว, สนามฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐาน นี่คือเงื่อนไขของเอเอฟซีที่กำหนดไว้ ทั้งสามสโมสร อยู่ในเกณฑ์ที่จะพิจารณา ส่วนโครงสร้างและกายภาพของสนาม ทางสโมสรก็ได้ชี้แจงข้อมูลต่างๆ เราก็จะมีการหารือกัน”
“ทั้ง 3 สโมสรที่มา ต่างเคยจัดฟุตบอลรายการสำคัญๆ มาแล้ว แต่ข้อกำหนดของฟุตบอลแต่ละรายการ ไม่เท่ากัน อย่างในชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ถือเป็นหนึ่งในฟุตบอลรายการที่มีข้อกำหนดที่สูง หากเทียบกับ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ที่แต่ละสโมสรเคยจัดการแข่งขัน ก็มีความแตกต่างกัน อย่างใน ชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ไฟส่องสว่างกำหนดไว้ที่ 1,800 LUX ซึ่งสูงกว่าฟุตบอลทุกรายการที่ประเทศไทยเคยจัดมา ห้องแต่งตัวนักกีฬา ก็ต้องมี 4 ห้อง โดยปกติใช้แค่ 2 ห้อง ก็สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะเดียวกัน ทางเดิน ก็จะเป็นกระเบื้องไม่ได้ ต้องเป็นพื้นยางที่กันลื่นได้ด้วย นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำในการแข่งขันฟุตบอลรายการนี้ ขณะเดียวกันทางเดินเข้าสนาม ปกติใช้แค่พรม แต่รายการนี้จะต้องปูหญ้าเทียมในส่วนที่เป็นลู่วิ่ง นี่คือความแตกต่างของฟุตบอลรายการนี้ กับ ฟุตบอลรายการอื่นๆ ที่ประเทศไทย เคยจัดมา”
ด้าน อำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงความพร้อมว่า “สนามติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ก็มีความสวยงาม คิดว่าน่าจะสวยงามที่สุดในประเทศไทย สนามอยู่ติดกับทะเล เรามีความภาคภูมิใจ ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้เลือกสนาม ติณสูลานนท์ เป็นสนามแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี”
“ส่วนของการปรับปรุงสนาม หลังจากที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ไปตรวจสนามของเราถึงสองครั้ง ก็ได้ให้คำแนะนำ และข้อกำหนดต่างๆ ให้เราปรับปรุงสนาม ณ ตอนนี้ สนามติณสูลานนท์ ภายใต้การควบคุมของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็ได้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงสนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดว่า เราจะปรับปรุงสนามให้ได้มาตรฐานตามที่เอเอฟซี กำหนดและคาดว่าจะแล้วเสร็จตามที่กำหนดส่งมอบสนาม วันที่ 15 ธันวาคม 2562”
ขณะที่ ความพร้อมกี่เปอร์เซ็นต์ คงพูดไมได้ เพราะในขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับปรุง แต่วันที่ 22 กันยายน 2562 ที่เอเอฟซี มีกำหนดจะเดินทางมาตรวจสนาม เราก็พร้อมที่จะพาไปชมว่าเราได้ปรับปรุงตามที่เอเอฟซี ให้คำแนะนำ ณ ตอนนี้ เราก็ได้เร่งดำเนินการปรับปรุง
“เราก็พยายามเดินไปตามแผนที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับของเอเอฟซี ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เราก็จะดำเนินการปรับปรุง สนาม ติณสูลานนท์ ให้เสร็จในวันที่ 10 ธันวาคม 2562”
โดยหลังจากนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันจากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย จะเดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าของสนามแข่งขันในช่วงระหว่างวันที่ 20-24 กันยายน 2562 ก่อนจะจัดพิธีจับสลากแบ่งสายการแข่งขันฟุตบอล ชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย ต่อไปในวันที่ 26 กันยายน 2562