รัฐสภา 18 ก.ย.- “ชวน” เดินหน้าให้อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรธน.ม. 152 แม้ส.ส.พปชร.จะติงอ้างกรณีศาลรธน.ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการ ลั่นพร้อมรับผิดชอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมตั้งแต่เช้า ด้านผู้นำฝ่ายค้านย้ำการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ถือว่าขัดรธน.ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (18 ก.ย.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น.มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เป็นการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ในประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรี และการแถลงนโยบายโดยไม่มีรายละเอียดที่มาของงบประมาณ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมและรับฟังการอภิปรายตั้งแต่เวลา 09.40 น. โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ แต่เมื่อสื่อถามว่าพร้อมหรือไม่ นายกรัฐมนตรีพยักหน้ารับแทน
นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นให้วินิจฉัยกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรี มาหารือ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันธ์กับองค์กรอื่น หากเดินหน้าอภิปราย อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ
นายชวน กล่าวว่า ได้หารือฝ่ายกฎหมายและรองประธานสภา และเห็นว่าญัตตินี้ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และกรณีดังกล่าวเป็นคำสั่ง ไม่ใช่คำวินิจฉัย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ก็ต่อเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมา ดังนั้นจึงเห็นว่าควรเดินหน้าพิจารณาต่อตามมาตรา 152 ดังนั้นประเด็นนี้ถือว่าจบด้วยความเห็นของสภา ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ จะได้ไม่มีปัญหาตามมา ดังนั้นเท่ากับว่าผู้เสนอญัตติมีสิทธิที่จะซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะให้คำแนะนำ จึงอนุญาตให้มีการอภิปรายในญัตตินี้ และหากเกิดอะไร ตนก็ต้องรับผิดชอบ
น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นกล่าวว่า “ศาลยังไม่มีอำนาจตรวจสอบเรื่องนี้ แล้วท่านเป็นประธานจะใช้อำนาจนี้นะ”
ก่อนจะเริ่มการอภิปราย นายชวน ได้ยกข้อบังคับการประชุมข้อ 69 ย้ำว่า การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง โดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น
เวลา 10.05 น. นายสมพงษ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เริ่มอภิปรายเป็นคนแรก ในประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ว่า ในการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ขาดถ้อยคำที่จะรักษาไว้และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เป็นสาระสำคัญและยังเพิ่มเติมคำว่าตลอดไปในคำกล่าว โดยมีเจตนาไม่ใช่เอกสารของสำนักนายกรัฐมนตรีที่จัดทำให้จึงเป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งนั้นไม่ครบถ้วน ถูกต้อง ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง และนายกรัฐมนตรียังเพิกเฉย และไม่ดำเนินการใด ๆ แม้ทุกฝ่ายจะเสนอทางออกให้แล้ว เพราะการถวายสัตย์คือการแสดงคำมั่นสัญญา คำสาบาน อันเป็นความจริง เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี ดังนั้นการกล่าวคำปฏิญาณจะน้อยกว่าหรือเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการอภิปรายนายสมพงษ์ ยังพาดพิงถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำให้นายชวนต้องขอให้อภิปรายอยู่ในประเด็น
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศ ได้แสดงถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่ ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น เพราะจงใจกระทำขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศที่ผู้นำขาดการยอมรับนับถือ มีมลทิน จะนำพาสังคมของประเทศให้อยู่รอดได้อย่างไร
จากนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นสากล โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ ขอเพียงเปล่งเสียงชัด ๆ ว่าขอลาออก.-สำนักข่าวไทย