ทำเนียบฯ 3 ก.ย.-รมว.มหาดไทย ยังห่วงน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ภาคเหนือ 4 จังหวัด ยืนยันทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือพายุ “คาจิกิ” ลูกใหม่ เผยเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า รอ ครม.เคาะ ไม่เห็นด้วยตั้งกระทรวงท้องถิ่น บอก ส.ส. คนดี มีหลักการ มาพูดคุยหารือกัน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่นโพดุล ว่า มีประชาชนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยประมาณ 26 จังหวัด โดยยังคงได้รับผลกระทบที่ภาคเหนือ 4 จังหวัด , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ขอนแก่น ยังมีปริมาณน้ำท่วมขังและได้อพยพประชาชนไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งในระหว่างที่เกิดพายุลูกใหม่ “คาจิกิ” ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งยังไม่มีผู้ประสบภัยเพิ่ม และทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมเพื่อดูแลประชาชน รวมถึงจะมีการระบายน้ำให้ดีที่สุด ด้วยการบูรณาการงานร่วมกันเพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ทั้งนี้ต้องประเมิน ว่าเมื่อพายุลูกใหม่เข้ามา จะต้องระบายน้ำออกมากน้อยเพียงใดตามความเหมาะสม เพราะต้องเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่จะได้รับผลกระทบจากพายุลูกใหม่โดยตรง ซึ่งได้เตรียมพร้อมรับมือในทุกจังหวัด
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลงไปตรวจน้ำท่วมที่จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย ก็ได้เตรียมการไว้ เพราะทั้งสองจังหวัดยังคงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตัวเมือง ที่รับน้ำได้ปริมาณจำกัดจำเป็นต้องผันน้ำไปทางอื่น
“ยืนยันว่าขณะนี้ยังบริหารจัดการได้ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีมีเวลาเพียงพอก็ได้เตรียมการไว้เพื่อให้นายกรัฐมนตรีไปตรวจน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสานต่อ” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นจะต้องมีการหารือกันในความพร้อมของกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้าตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะเป็นช่วงใด
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ ส.ส.พยายามตั้งญัตติ และขอให้คณะกรรมาธิการตั้งกระทรวงท้องถิ่นเพื่อให้มีการกระจายอำนาจนั้น ก็มาพิจารณาได้ คนดี มีหลักการ มีเหตุผล ก็มาพูดคุยกัน เพราะมีขั้นตอนอีกมาก และในมุมมองส่วนตัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายกำกับดูแล ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันกับสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ไม่มีใครไปสั่งท้องถิ่นได้ และมีอิสระในการบริหาร หากนำเหตุผลทั้งสองอย่างมารวมกัน ก็ไม่มีความจำเป็น ที่จะไปต้องไปตั้งกระทรวงดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย