กรมชลประทาน 29 ส.ค.-กรมชลประทาน
สั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุโซนร้อน “โพดุล” หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยช่วงวันที่
29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล
รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาพายุโซนร้อน “โพดุล” ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562
ซึ่งจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง
บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน
น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ลาดเชิงเขาและใกล้ทางน้ำไหลนั้น กรมชลประทาน
ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน
โดยได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หากมีกรณีฝนตกหนักต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว
รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่คอยติดตาม
ตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพตามสถานการณ์น้ำที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา
รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด
พร้อมกับปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม
โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯพร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 42,090 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 55
(ปริมาตรน้ำใช้การได้ 18,210 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 (56,435 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 74) น้อยกว่าปี 2561 จำนวน 14,345 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 457.46 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 76.99 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 33,978 ล้าน ลบ.ม. โดยสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 39,869 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 16,371 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561(53,271 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75) น้อยกว่าปี 2561 จำนวน 13,402 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯจำนวน 401.19 ลบ.ม ปริมาณน้ำระบายจำนวน 54.43 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 31,057 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่พื้นที่น้ำท่วมรวม
10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี อำนาจเจริญ
มุกดาหาร สุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก-สำนักข่าวไทย