สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 27 ส.ค.-ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติคำร้องปม นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบของ “ศรีสุวรรณ-อัยย์” ชี้เป็นเรื่องการกระทำ ไม่ใช่บทบัญญัติกฎหมาย ขณะส่งคำร้องของ “ภาณุพงศ์” ไปศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ เหตุถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ เป็นการละเมิดสิทธิ์ประชาชน ส่วนคำร้องของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” กรณีเลือกนายกรัฐมนตรี ให้ยกคำร้อง
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน วันนี้ (27 ส.ค.) พิจารณากรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของนายกรัฐมนตรี มีผู้ยื่นจำนวน 3 คน คือ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ และนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายรักษเกชา กล่าวว่า กรณีของนายศรีสุวรรณ และนายอัยย์ ร้องเรียนว่า นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องของการกระทำ ไม่ใช่เรื่องบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่เป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงยุติการส่งศาลรัฐธรรมนูญ และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะส่งไปยังศาลปกครอง เพราะถือเป็นเรื่องของการกระทำ
นายรักษเกชา กล่าวว่า ส่วนกรณีของนายภาณุพงศ์ ที่ยื่นร้องมาว่า การถวายสัตย์ฯ ที่ไม่ครบถ้วนของนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่ายังไม่ได้เข้ารับการทำหน้าที่ และเป็นผลพวงถึงการแถลงนโยบาย รวมทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นผลให้ตนเองถูกละเมิดสิทธิ์ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนเสียหายนั้น ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีให้ชี้แจงข้อเท็จจริง โดยนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือชี้แจงว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีพระราชดำรัสแก่คณะรัฐมนตรี ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงเห็นว่า ได้กระทำครบถ้วนแล้ว
นายรักษเกชา กล่าวว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้ว ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าถือเป็นการกระทำที่ละเมิด ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ฯ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ตามคำร้องละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำดังกล่าวจึงบังคับใช้ไม่ได้
นายรักษเกชา กล่าวว่า ส่วนคำร้องของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ร้องเรียน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กรณีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยไม่ดำเนินการขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรก่อนตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญนั้น
นายรักษเกชา กล่าวว่า ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ใน 5 ปีแรก ให้งดเว้นไม่ต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ให้มีการรับรองชื่อบุคคลจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งสามารถเสนอชื่อในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้เลย ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเห็นว่า ไม่ใช่การกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย