หนองคาย 23 ส.ค.- จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพกิจกรรมสัปดาห์วิชาการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ซึ่งเป็นภาพการมอบรางวัลชนะเลิศให้กับสามเณร 4 รูปที่ชนะการแข่งขันอีสปอร์ต ทำให้โลกออนไลน์เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่า เป็นการกระทำธรรมวินัยหรือไม่
เรื่องนี้ ผศ.ดร.นงราม เหมือนฤทธิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย บอกว่า มหาวิทยาลัย ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค.62 วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เพื่อบริการงานด้านวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และแขนงต่างๆ ที่วิทยาเขตหนองคายได้เปิดสอน โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง Soft Skill ซึ่งไม่เน้นหนักทั้งวิชาการหรือวิทยาศาสตร์เสียทีเดียว ให้เด็กได้แสดงความสามารถที่เด็กชอบออกมา
กิจกรรมมีหลากหลายทั้งการประกวดแข่งขันทักษะวิชาการ และการกีฬา ฟุตซอล, อีสปอร์ต รวม 29 กิจกรรม ซึ่งการที่มีการจัดแข่งอีสปอร์ต เพราะวิทยาเขตมีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ดังนั้น อีสปอร์ตจึงเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สาขาคอมพิวเตอร์ฯ ต้องเข้ามามีบทบาท โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการแข่งขันก่อน จะประกาศให้ทราบว่าโรงเรียนใดมีคุณสมบัติเข้าร่วมได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า โดยโรงเรียนพระปริยัติธรรมก็เทียบเท่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป ซึ่งหลักเกณฑ์จะเป็นทางโรงเรียนเป็นผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ใช่ตัวนักเรียนสมัครเอง
สำหรับการแข่งขันอีสปอร์ตมี 2 รายการ คือ ROV และ Speed Drifters ซึ่งสามเณรที่ชนะเลิศ ไม่ใช่จากการแข่งขัน ROV แต่เป็น Speed Drifters แต่คนทำป้ายด้านหลังเวที ทำระบุไว้เฉพาะ ROV ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า เป็นรางวัลชนะการแข่งขัน ROV โดย ROV มีทีมเข้าร่วมแข่ง 40 ทีม มีสามเณรแข่งด้วย แต่ไม่ได้รางวัล ส่วน Speed Drifters มีสามเณรทีมเดียวเข้าแข่ง และได้รางวัลชนะเลิศไป
ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าทุกคนเป็นเด็กนักเรียน ไม่ว่าเป็นนักเรียนธรรมดา หรือนักเรียนสามเณร บาลีศึกษา จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ถือเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่มีแผนการเรียนเหมือนโรงเรียนมัธยมทั่วไป ที่ต้องการพัฒนาทักษะการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ และมีครูโรงเรียนส่งเข้าร่วมแข่งขันตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงราม เหมือนฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของสามเณร ทางวิทยาเขตได้สอบถามไปยังกรมการศาสนาแล้ว และได้คำตอบว่า กิจกรรมนี้เป็นการแข่งขันทักษะทางคอมพิวเตอร์ จึงไม่ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ผิดวินัยแต่อย่างใด
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะจริงอยู่ที่แม้ว่าในศีลที่เณรต้องนับถือ 10 ข้ออาจจะไม่มีการระบุชัดว่า ห้ามเล่นเกม เพราะในศีลข้อ 7 ที่อาจจะใกล้เคียงสุด คือ เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก
เรื่องนี้ในมุมมองของตน หรือจะไปถามพระผู่ใหญ่หลายๆท่าน เชื่อว่า คงจะไม่ฟันธงว่า ผิด แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่เหมาะสมแน่นอน แม้ทางผู้จัดจะระบุว่าเป็นการส่งเสริมทักษะด้านไอที แต่การเรียนวิชาการทางโลกไม่ได้หมายถึงว่า ต้องเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่เด็กนักเรียนข้างนอกเขาทำกันที่ไหนเล่า ไม่มีกฎห้ามก็จริง แต่มันก็ต้องคำนึงเรื่องสถานะภาพด้วย
พูดให้ชัดคือต้องแยกกันให้ชัด ไม่ได้กำลังบอกว่า พระเณรใช้เครื่องมือไอทีเพื่อการศึกษาไม่ได้ แต่เรากำลังตั้งคำถามว่า การใช้เครื่องมือไอทีของพระเณรควรอยู่ในขอบเขตไหนหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์อะไรต่างหาก พูดให้ชัดคือต้องแยกก่อนว่าไม่ได้กำลังบอกว่า พระเณรใช้เครื่องมือไอทีเพื่อการศึกษาไม่ได้ แต่กำลังตั้งคำถามว่า การใช้เครื่องมือไอทีของพระเณรควรอยู่ในขอบเขตไหนหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์อะไรต่างหาก
ส่วนตัวเห็นว่าการศึกษาเพื่อหาวิชาความรู้กับการแข่งขัน มันคนละเรื่องกัน เราต้องแยก พระเณรไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปแข่งขันหรือเอาชนะกับฆราวาส และโดยเฉพาะในกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งเลยเถิด ถ้าเกมกีฬาเป็นสิ่งที่เหมาะกับพระเณร ต่อไปเราคงเห็นภาพของพระเณรลงสนามแข่งขันอย่างเป็นเรื่องปกติ สังคมอยากเห็นภาพแบบนั้นหรอ ความเป็นเลิศทางวิชาการ อยู่ที่ความรู้ความสามารถซึ่งพระเณรสามารถมีได้ไม่แพ้ฆราวาสนะ แต่ความเป็นเลิศที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการแข่งขันหรือเอาชนะ พระเณรไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปแข่งขันหรือเอาชนะกับฆราวาส และโดยเฉพาะในกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งเลยเถิด
แค่นี้สังคมก็มีคำถามกับพระเณรมากพออยู่แล้ว หากปล่อยให้เรื่องนี้เกิดเพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ผิดกฎ และหากผู้มีอำนาจยังเพิกเฉยไม่แก้ไข จะยิ่งจะนำไปสู่วิกฤตศรัทธาได้ง่ายยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย