ปราจีนบุรี 23 ส.ค.- มุกตลก “อภินิหารหลวงปู่เค็ม” ถูกตลกยุคเก่าเล่นไว้และกลับมาเล่นอีกในโลกออนไลน์ ความจริงเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องสมมุติ แม้ชื่อหลวงปู่อาจจะไม่ตรงกับที่ตลกเล่นเสียทีเดียว แต่พบว่ามีเรื่องราวความคล้ายกัน เพราะวัดเขาอีโต้มีอยู่จริง และพระที่โด่งดังของวัดนี้คือ “หลวงปู่เคน”
ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มุกที่ตลกนำไปเล่นกันและถูกพูดถึงในโลกออนไลน์และคนทั่วไป คือ “อภินิหารหลวงปู่เค็ม” หลวงปู่เค็ม คือใคร กลายเป็นคำถามที่ชาวเน็ตหาคำตอบ และเอามาเล่นต่อในโลกออนไลน์ ซึ่งมุกหลวงปู่เค็มนั้น แห่งวัดเขาอีโต้ขว้างเป็ด เป็นตัวละครสมมติ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาล้อกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนไทย แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิง โดยใช้วิธีชงมุกแบบรัวๆ และ หักมุมรัวๆ กับอภินิหารของหลวงปู่เค็ม ซึ่งตลกหลายๆ คนนำมาใช้ และขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเอาไปปรับแต่งยังไง แต่ลักษณะของมุกก็จะคล้ายๆ กัน
แต่ความจริง เรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องสมมุติหรือตัวละครสมมุติอย่างที่เข้าใจกัน เพราะแม้ชื่อหลวงปู่อาจจะไม่ตรงกับที่ตลกเอาไปเล่นเสียทีเดียว แต่พบว่า มีเรื่องราว ความคล้ายที่ใกล้เคียงกันมาก เพราะวัดเขาอีโต้ มีอยู่จริงในอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และพระที่โด่งดังของวัดนี้ ก็คือ “หลวงปู่เคน”
ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 50 ปี ที่ หลวงปู่เคน สุขวฑัตโน วัดถ้ำเขาอีโต้ ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ได้ละสังขารไปเมื่อ ปี 2512 รวมสิริอายุ 111 ปี 11 เดือน 5 วัน แล้วก็ตาม แต่ศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหา ก็ยังไม่เสื่อมคลาย ทุกวันยังคงมีลูกศิษย์เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมากราบขอพรและบารมีจากรูปเหมือนในมณฑปไม่ขาดสาย เพราะด้วยวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายเพียบพร้อมไปด้วยจริยาวัตรที่งดงาม แฝงไปด้วยเมตตา
หลวงปู่เคนเป็นเกจิอาจารย์ ที่มีเรื่องเล่ากันต่อๆ มา ว่าเป็นผู้มีอภินิหารมากมาย ด้วยที่ในสมัยก่อน จังหวัดปราจีนบุรี ยังคงเป็นเหมือนจังหวัดปิด ความเจริญยังไม่มีมากนัก อีกทั้งตัววัดเองก็อยู่บนเขา ยากลำบากต่อการที่จะไปบิณฑบาตแห่งกิจของสงฆ์ แต่หลวงพ่อเคนก็ไม่ปริปากบ่น ชาวบ้านแถบนั้นมักจะเห็นหลวงพ่อเดินออกบิณฑบาตอยู่เสมอๆ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย เดินทางไปยังวัดถ้ำเขาอีโต้ เพื่อนมัสการสอบถามพระมหาวินัย ธัมมวินโย เจ้าอาวาส ถึงเรื่องราวและความเป็นมาของหลวงปู่เคน เจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่เคน พื้นเพเป็นคนจังหวัดนครนายก แต่หลังบวชแล้วได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาเพื่อเพื่อร่ำเรียนวิชาจนกระทั่งไปพบ สมเด็จลุน ที่ จ.อุบลราชธานี ก่อนจะกลับมาที่เขาอีโต้ เห็นว่าเป็นทำเลดีมีถ้ำใหญ่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาจึงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะปฏิบัติธรรมจนวาระสุดท้าย ซึ่งในสมัยก่อน พื้นที่แห่งนี้คือป่าดงดิบสัตว์ร้ายชุกชุม หลวงปู่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนามาตลอด จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่ออายุ 111 ปี 11 เดือน 5 วัน
มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์ไปพบหลวงพ่อที่วัด แต่เด็กวัดบอกว่าหลวงพ่อไปในถ้ำสวดมนต์ ลูกศิษย์คนนั้นก็ไปหาหลวงพ่อที่ถ้ำเขาอีโต้เพื่อจะไปดูว่าท่านอยู่จริงหรือไม่ เมื่อเข้าไปก็เห็นหลวงพ่อสวดมนต์อยู่จริง แต่หลวงพ่อท่านลอยอยู่บนอากาศ สูงได้ซัก 1 เมตร ไม่มีอะไรรองนั่ง ท่านลอยอยู่ซักพักแล้วก็ค่อยๆ ลอยกลับมาลงนั่งสมาธิปกติดังเดิม ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเคน เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วทั้งจังหวัดปราจีนบุรี
อีกเรื่องเล่าหนึ่งว่ากันไว้ว่า ในช่วงที่ท่านยังไม่ละสังขาร มีคนเห็นท่านมาบิณทบาตที่กรุงเทพ ทั้งๆ ที่ท่านนั่งรับแขกญาติโยมอยู่ที่หน้าถ้ำ หลวงปู่เป็นพระมีเมตตาสูง ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้ไม่มากที่นิยมก็จะเป็น ไซดักเงินดักทองเหมาะแก่การค้าขายติดหน้าร้านเพื่อเรียกเงิน เหรียญอีกสามรุ่น ที่โด่งดังและหายากคือผ้ายันต์ที่มีตลกคณะหนึ่งนำไปพูดขณะแสดงจนเป็นที่ฮือฮา เพราะผ้ายันต์แดงนี้ มีพุทธคุณครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเมตตามหานิยมแคล้วคลาดคงกระพัน แต่ปัจจุบันหาไม่ค่อยได้ใครมีก็หวง ที่วัดเองก็มีเหลืออยู่แค่ 2 ผืน นอกนั้นก็มี รูปเหมือนบูชาเนื้อว่าน เหรียญและไซ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยยังได้คุยกับพี่อภิชาต ฉายศิริ คนดูแลมณฑปหลวงปู่เคน ซึ่งได้พาเดินชมและไปนมัสการรูปหล่อหลวงปู่พร้อมอธิบายเรื่องราวคร่าวๆ ว่า มณฑปแห่งนี้สร้างขึ้นครอบบริเวณปากถ้ำที่หลวงปู่เคน นั่งวิปัสสนากรรมฐานและใช้บางช่วงเวลารับญาติโยม แต่ปัจจุบัน ปากถ้ำถูกปิดลงตามการสั่งเสียของหลวงปู่ พร้อมได้นำรูปหล่อที่บรรจุเถ้ากระดูกหลวงปู่มาตั้งแทนเพื่อให้ญาติโยมมากราบไหว้ขอพร พี่อภิชาต เล่าว่า ภายในถ้ำมีสิ่งของมีค่ามากมาย ก่อนที่จะมีการปิดมีคนพยายามเข้าไปหยิบฉวยเอามาเป็นเจ้าของจนมีอันเป็นไป เพื่อไม่ให้คนละโมบเห็นแก่ตัวเข้าหยิบฉวยทางวัดจึงปิดตายมีเหลือช่องทางเดียวที่จะเข้าไปทำความสะอาดคือด้านบนแต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้า ตรงกับที่ท่านเจ้าอาวาสกรุณาเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่มีคนเห็นงูใหญ่คอยเฝ้าสิ่งของในถ้ำ
ถ้ามีโอกาสก็แวะมากราบรูปเหมือนหลวงปู่ที่วัดถ้ำเขาอีโต้ ได้ทุกวัน หรือถ้าสนใจของมงคลของทางวัดก็สามารถติดต่อที่เจ้าอาวาสได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 062 – 9196642.-สำนักข่าวไทย





