แจ้งวัฒนะ 22 ส.ค.-กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ พม.จัดทำ ‘โรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อผู้ต้องราชทัณฑ์’ เพื่อให้ผู้ต้องขังกลุ่มสูงวัยปรับตัวทันยุค เนื้อหาหลักสูตรเน้น 4 มิติ ทั้งด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุต้องราชทัณฑ์
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า เรือนจำถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนในสังคมที่มีประชากรอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากและมีประชากรวัยสูงอายุเช่นเดียวกับสังคมภายนอก ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังที่อยู่ความดูแลรวม358,693 คน และมีผู้ต้องขังสูงอายุกระจายอยู่ในเรือจำต่าง ๆ รวม 6,268 คน กลุ่มนี้ต้องการการพัฒนาที่เหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถปรับตัวและเห็นคุณค่าในตัวเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ในเรือนจำได้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ เพื่อกลับไปอยู่กับครอบครัว และชุมนได้อย่างปกติสุข
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า เมื่อปี2557กรมราชทัณฑ์ ได้จัดตั้งศูนย์ผู้ต้องขังสูงอายุชายขึ้นที่เรือนจำของเปรมเป็นแห่งแรกเพื่อให้ผู้ต้องขังสูงอายุได้รับการดูแลตามสิทธิและความต้องการจำเป็นที่เกิดขึ้นตามช่วงวัย แต่ปัจจุบันในสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กรมราชทัณฑ์และกรมกิจการผู้สูงอายุ เห็นความสำคัญในประเด็นนี้ต้องการให้ผู้ต้องขัง โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัยปรับตัวให้ทันยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง จึงได้ร่วมกันจัดทำ ‘โรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อผู้ต้องราชทัณฑ์” ขึ้น โดยมีเนื้อหาหลักสูตร เน้นหนักใน 4 มิติ ได้แก่ 1.ด้านสุขภาพ เน้นในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองการออกกำลังกายอาหารและการบริหารสุขภาพจิต
2.ด้านสังคม เน้นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ความรู้ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม ความรู้เรื่องกฎหมายสิทธิและสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ และหน่วยงานที่ให้การสงเคราะห์ภายหลังพันโทษ
3.ด้านเศรษฐกิจ เน้นการฝึกอาชีพให้กับผู้สูงอายุ การออม ในผู้สูงวัย และ 4.ด้านสภาพแวดล้อม เน้นการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับผู้สูงอายุ
ด้านนางไพรวรรณ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ต้องขังปรับตัวให้ทันกับสังคมผู้สูงอายุที่ตอนนี้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง ร้อยละ 18 จากประชากรประมาณ 66 ล้านคน หรือประมาณ 12 ล้านคน
สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าวจะจัดสอนให้กับผู้ต้องขังที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นดี ชั้นดีมาก ชั้นเยี่ยม เหลือโทษจำต่อไม่เกิน 50 ปี ทางเรื่อนจำจะไม่บังคับ เบื้องต้นจะเปิด ให้เรียนตามความสมัครใจของผู้ต้องขังก่อน หลักสูตรนี้จะใช้เวลา 3 เดือน เรียนสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 2 ชั่วโมง มีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จะเปิดรับรุ่นละ 50 คน โดยเริ่มเปิดการเรียนการสอนในเรือนจำกลางคลองเปรมเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะขยายไปยังเรือนจำอื่นๆต่อไป.-สำนักข่าวไทย