กรุงเทพฯ 13 ส.ค.- อดีตศรภ.ชี้เหตุป่วนภาคใต้เป็นฝีมือกลุ่มการเมือง แนะประชาชนออกมากดดันต่อต้าน เพื่อให้รู้ว่าเหตุที่ก่อส่งผลกระทบมากกว่าความสะใจ ระบุ หากประชาชนไม่กดดัน อาจเกิดเหตุขึ้นอีก
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหนัาศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความ ปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทย” ถึงเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ในหลายจังหวัดภาคใต้ ว่า การวางระเบิดมีลักษณะทำเป็นเครือข่าย จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแน่นอน เพราะเกิดขึ้นทั้งหมด 11 เหตุการณ์ ใน 7 พื้นที่ ดังนั้นเมื่อทำเป็นเครือข่ายก็จะต้องใช้คนมากกว่า 20 คนเป็นอย่างน้อย ส่วนใครที่จะน่าเป็นคนทำบ้าง จากการตรวจสอบของตำรวจพบว่า ระเบิดที่ก่อเหตุมีลักษณะคล้ายคลึงกับระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ระเบิดสังหารและระเบิดที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้
“กลุ่มที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุครั้งนี้จึงมีขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มโจรที่ได้รับการเลี้ยงดูจากนักการเมือง แต่ไม่น่าจะใช้กลุ่มที่กลุ่มก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพวกที่มีอุดมการณ์และทำงานในพื้นที่จะไม่ออกมาก่อเหตุนอกพื้นที่แน่นอน เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกจับกุมได้ง่ายและถูกต่อต้านจากชาวมุสลิมด้วยกัน อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มโจรบางกลุ่มที่มีนักการเมืองเป็นลูกพี่ ซึ่งกลุ่มการเมืองนี้อาจจะออกมาเคลื่อนไหวโดยรับเงินว่าจ้างมา แต่ไม่ได้ออกมาในลักษณะกลุ่มโจร แต่เป็นรูปแบบการช่วยเหลือ” พล.ท.นันทเดช กล่าว
พล.ท.นันทเดช กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มผุ้ก่อเหตุเลือกพื้นที่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เนื่องจากมีความสงบ ไม่ได้คุมเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัย จึงทำให้ง่ายต่อการสร้างสถานการณ์ อีกทั้งระเบิดที่ใช้เป็นระเบิดสำเร็จรูป ใช้วิธีนำไปวางในที่เกิดเหตุแล้วจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือได้ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ใครที่มีใจโหดเหี้ยมก็ทำได้ จึงไม่ใช่ฝีมือของขบวนการก่อความไม่สงบอย่างแต่นอน
“กลุ่มที่ตกเป็นเป้าสงสัยรองลงมาก็คือเครือข่ายนักการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล กลุ่มนี้มีลักษณะคล้ายโจรภาคใต้ แต่ทำโดยไม่ให้พวกตัวเองรู้ หรือ แอบมาทำ ทั้งสองกลุ่มนี้จึงแตกต่างกัน กลุ่มที่ไม่รู้เรื่องจึงออกมาปฏิเสธ ไม่ได้ทำ แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่แอบมาทำโดยเฉพาะ ดังนั้นกลุ่มที่ก่อเหตุไม่น่าจะพ้นสองกลุ่มนี้ ส่วนการปล่อยข่าวลือว่าจะมีกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติหรือไอเอสเข้ามาก่อเหตุ เป็นไปไม่ได้” พล.ท.นันทเดช กล่าว
พล.ท.นันเดช กล่าวว่า การก่อเหตุร้ายครั้งนี้ ผู้ก่อเหตุมีเป้าหมาย 2 อย่าง คือ ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นฝีมือขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะเดียวกันก็พยายามทำให้รู้ว่าเป็นรูปแบบการต่อสู้ทางการเมือง เช่น การเลือกจังหวัดที่มีคะแนนการรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเกิน 80% รวมถึงการออกมาแสดงความดีใจของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเดิมผ่านโซเชียลมีเดียหลายคน อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะเป็นขบวนการเดียวกับที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 เพราะจะไม่เลือกคนก่อเหตุซ้ำกัน
“การจะยุติไม่ให้เกิดเหตุระเบิดอีก มีเพียงทางเดียวคือประชาชนทั่วประเทศต้องออกมากดดันกลุ่มการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ 99% อาจไม่รู้เรื่องด้วยกับคนที่ก่อเหตุ แต่พอจะรู้ว่าเป็นใคร และตักเตือนกันภายในได้ว่าอย่าทำ หากประชาชนออกมากดดันมาก จะทำให้เขาเห็นได้ว่าการที่เขาได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวคือความสะใจ แต่ผลเสียระยะยาวไม่คุ้มกับการก่อเหตุ การทำแบบนี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มการเมืองฝ่ายเขา หากประชาชนไม่ออกมากดดัน เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นอีก” พล.ท.นันทเดช กล่าว.-สำนักข่าวไทย