กทม.1 ส.ค.- ดีเดย์วันนี้(1 ส.ค.) จับปรับผู้ขับขี่บนทางเท้า 2,000 บาท พร้อมเผยตัวเลขจับปรับระหว่าง 9 ก.ค. 61 – 21 ก.ค. 62
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดจับ-ปรับผู้ขับขี่หรือจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า มีผู้บริหารสำนักเทศกิจ ผู้บริหารสำนักงานเขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ในพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยม จุดจับ-ปรับฯ บริเวณปากซอยลาดพร้าว 85 ถ.ลาดพร้าว สำนักงานเขตวังทองหลาง จากนั้นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ เดินทางไปยังสำนักงานเขตวังทองหลาง ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการสืบค้นหาข้อมูลเจ้าของผู้ครอบครองรถที่ฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดรถบนทางเท้าของฝ่ายเทศกิจ ตาม MOU กับกรมการขนส่งทางบก
นายสกลธี กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครกำหนดอัตราโทษการจับปรับผู้กระทำผิด กรณีจอดรถหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จำนวน 1,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่ค่อนข้างสูง แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าอีกจำนวนไม่น้อย กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มโทษปรับเป็น 2,000 บาท โดยจะเริ่มจับปรับในอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่นี้( 1 ส.ค.)เป็นต้นไป โดยช่วง 1- 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจทุกสำนักงานเขตกวดขันจับ-ปรับผู้กระทำความผิด และให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนอัตราโทษจับปรับใหม่ให้ นอกจากนี้ในการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจและหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทุกสำนักงานเขต เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้มอบหมายสำนักเทศกิจประสานงานกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล จัดทำแอพพลิเคชั่นตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิดหากพบว่าทำผิดซ้ำซากให้ดำเนินการลงโทษสูงสุดโดยไม่ให้ลดหย่อนอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้จาการจับปรับผู้กระทำผิดกรณีขับขี่บนทางเท้าระหว่างวันที่ 9 ก.ค. 61 – 21 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เทศกิจทุกเขต จับปรับผู้กระทำผิดได้จำนวน 20,659 ราย, ว่ากล่าวตักเตือน 4,197 ราย, ดำเนินคดี 14,678 ราย อยู่ระหว่างดำเนินคดี 1,784 ราย ปรับเป็นเงิน 11,179,500 บาท กรณีกรุงเทพมหานครให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิด โดยส่งภาพถ่ายแสดงป้ายทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์มายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ประสานขอข้อมูลผู้ครอบครองรถไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อเปรียบเทียบปรับ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เพื่อลดภาระงานของกรมการขนส่งทางบก ในการตรวจสอบข้อมูลผู้ครอบครองรถ และเพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดได้ทันภายในระยะเวลาอายุความ 1 ปี กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมการขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครสามารถใช้ระบบฐานข้อมูลเพื่อทราบเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถที่กระทำการฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดรถบนทางเท้าได้ทันที และสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยมีหนังสือเชิญเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาให้ถ้อยคำและเปรียบเทียบปรับ หากบุคคลดังกล่าวไม่มาพบภายในเวลาที่กำหนด กรุงเทพมหานครจะดำเนินการส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย

