กสม. 31 ก.ค.- “อังคณา-เตือนใจ” ลาออกจาก กสม. มีผลวันนี้ เหตุ ระบบใหม่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องการออกไปทำงานอย่างที่ต้องการ
นางอังคณา นีละไพจิตร และ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าว วันนี้ (31 ก.ค.) ว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น กสม. แล้ว เช้าวันนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่ 09.30 น. เป็นต้นไป โดยเหตุผลในการลาออก เนื่องบรรยากาศและระบบการทำงานไม่เอื้ออำนวย ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน แต่งานที่รับผิดชอบ ก็ได้มีการจัดทำเสร็จเป็นส่วนใหญ่แล้ว
นายเตือนใจ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว กสม.ชุดปัจจุบัน ถือว่าพ้นจากตำแหน่งแล้ว นับแต่มี พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับใหม่ แต่ที่ยังอยู่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 22 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งคณะขึ้นมาทำหน้าที่แทนให้ครบองค์ประชุมได้ จนกว่า กสม.ชุดใหม่ที่กำลังสรรหาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทราบว่าคณะกรรมการสรรหา กสม.ชุดใหม่ จะมีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ในวันที่ 2-3 สิงหาคม หากคัดเลือกได้ครบ 4 คน ก็จะมีการเสนอวุฒิสภาให้พิจารณาได้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน
นางเตือนใจ อธิบายถึงบรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ในการทำงาน ว่า นับแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ใช้บังคับ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับใหม่ ประกาศใช้ มีการกำหนดให้ กสม.สามารถตั้งอนุกรรมการได้เท่าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แตกต่างจากในอดีต ที่ กสม.ขณะนั้นจะต้องอนุกรรมการฯ ขึ้นมาหลากหลาย และมีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำให้การทำงานของ กสม.เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในทุกกลุ่ม ทุกภาค เมื่อมีการร้องเรียน ตรวจสอบ ลงพื้นที่ ก็จะมีบรรยากาศเป็นไปในเชิงสมานฉันท์ หลายครั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ เมื่อมีการลงพื้นที่
นางเตือนใจ กล่าว เมื่อการกำหนดให้มีการตั้งอนุกรรมการเท่าที่จำเป็น กสม.ชุดนี้จึงตีความว่า ไม่ควรมีการตั้งคณะอนุกรรมการเลย เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย แล้วแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ กสม.ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ทำให้หลังจากนั้นการเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาการอต่างๆ ลดลง อย่างต่อเนื่อง เรื่องร้องเรียนก็ลดลง หลายเรื่องมีการร้องเรียน ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ก็จะไม่รับเป็นคำร้องเสียมากกว่า ทำให้คิดว่าการทำงานของ กสม.ลอยจากฐานของประชาชน
“นอกจากนี้ การอออกระเบียบต่างๆ รองรับกฎหมายใหม่ ก็ทำให้รู้สึกว่าการทำงานไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การลงพื้นที่ เมื่อก่อนเราจะแจ้งสื่อ เพื่อเป็นการเปิดประเด็นว่า เราจะทำเรื่องอะไร ผู้ถูกร้องเกิดการตื่นตัว ทำให้แก้ปัญหามีประสิทธิภาพ แต่เมื่อมีมติของ กสม.เรื่องแนวปฏิบัติการให้ข่าว การแจ้งสื่อก็ทำไม่ได้ ทำให้หลังปลายปี 61 ต่อเนื่องปี 62 การทำงานของ กสม.จะเงียบมาก ดังนั้น จึงคิดว่าแม้จะเหลือเวลาในหน้าที่อีกเพียง 2-3 เดือน แต่ลาออกก่อน ก็จะทำให้เราได้ไปทำงานที่เราต้องใจ และไปเป็นประชาชนเต็มขั้น” นายเตือนใจ กล่าว . – สำนักข่าวไทย