กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – RATCH แจงไม่ได้เร่งรัดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์ เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ค่าไฟฟ้าต่ำสุดในระบบไอพีพี ประชาชนได้ประโยชน์ ด้าน ปตท.เผยเตรียมลงนามสัญญาขายก๊าซสัปดาห์หน้า
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า การลงนามซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก (โรงไฟฟ้าหินกองเพาเวอร์ จ.ราชบุรี ) กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 นั้น เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติไม่ได้เร่งรัดแต่อย่างใด โดยใช้เวลา 7 เดือน หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 โดยสัญญานี้เป็นไปตามนโยบายที่ต้องเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก เพื่อส่งไฟฟ้าไปภาคใต้ที่จะมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ และโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้ตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี 2018) จะเกิดขึ้นโรงใหม่ในปี 2570 โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องต่ำ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องดึงเอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมทุนนั้น นายกิจจา ชี้แจงว่าต้องพิจารณาว่าการมีพันธมิตรแล้วจะสามารถ Synergy เสริมสร้างความเข้มแข็งซึ่งกันและกัน ทำให้บริษัทมีความเข้มแข็ง โดยการลงนามกับริษัทร่วมทุนนั้นไม่ต้องเร่งรีบ เพราะโครงการยังมีระยะเวลาอีกนานที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 2567 และ 2568 โดยการถือหุ้นกับพันธมิตรจะเป็นเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา
นายกิจจา กล่าวว่า โรงไฟฟ้าหินกองเพาเวอร์ คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนประมาณ 500,000 เหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ จะเริ่มดำเนินก่อสร้างปี 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท.ปริมาณ 220-240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือประมาณ 1.4-1.5 ล้านตัน /ปี
ส่วนความคืบหน้าของการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาว จะเริ่มดำเนินการเดือนธันวาคม 2562 ล่าช้าจากเดิมที่จะ COD เดือนกุมภาพันธ์ 2562 หลังจากเกิดอุบัติเหตุสันเขื่อนดินย่อยส่วน D แตกเมื่อกลางปี 2561 โดยโครงการมีการทำประกันครอบคลุม แต่การเจรจาเรื่องเงินเคลมประกันคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.จะลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับโรงไฟฟ้าไอพีพีโรงใหม่ ทั้งหินกองเพาเวอร์ และ บมจ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย (NPS) ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
สำหรับปริมาณการขายก๊าซฯ ให้กับกลุ่ม RATCH คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 200-240 ล้านลูกบาศก์ฟุต /วัน อายุสัญญา 25 ปี ส่วนปริมาณขายก๊าซฯ ให้กับ NPS คาดว่าจะไม่เกิน 100 ล้านลลูกบาศก์ฟุต/วัน อายุสัญญา 25 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าหินกองเพาเวอร์ ใช้หลักเกณฑ์โครงสร้างค่าไฟฟ้า IPP ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ใช้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ในอดีต (Gulf PD 2,500 เมกะวัตต์) โดยผลการวิเคราะห์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พบว่า กลุ่ม RATCH เสนอราคาต่ำกว่า Gulf PD 2,500 เมกะวัตต์ 0.0038 บาท/หน่วย โดยราคาเฉลี่ย 25 ปี อยู่ที่ 1.9930 บาท/หน่วย. -สำนักข่าวไทย