กรุงเทพฯ 25 ก.ค.- ปตท.-กฟผ.รับลูก “สนธิรัตน์” ใช้พลังงานเป็นกลไกแก้ปัญหาปากท้องประชาชน เร่งแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ส่งผลราคาซีพีโอกระเตื้อง ด้าน ปตท.พร้อมช่วยเหลือราคา LPG-NGV ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากที่อุดหนุนขณะนี้ราว330ล้านบาท/เดือน
นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดภาระด้านพลังงาน ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการให้ภาคพลังงานเข้าไปดูแลประชาชนในระดับท้องถิ่น ลดภาระประชาชน โดยให้ช่วยศึกษาถึงการร่วมแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ และ ดูแลราคาก๊าซหุงตุ้ม( แอลพีจี)-ก๊าซเอ็นจีวี ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นการวางหลักการให้ การช่วยเหลือเป็นรูปแบบยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงการใส่เม็ดเงินเข้าช่วยเหลือเท่านั้น
สำหรับ การช่วยเหลือเรื่องปาล์ม ปตท.จะร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดูทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะนำการวิจัยและพัฒนา(R&D)เข้ามาใช้ โดยในส่วนต้นน้ำจะวิจัยตั้งแต่การปลูกของเกษตรกร จะเพิ่มผลผลิตต่อไรและให้คุณภาพผลปาล์มออกมาดีที่สุดอย่างไร รวมทั้งการพัฒนาดิน และอาจจะมีข้อเสนอถึงการจัดพื้นที่ หรือโซนนิ่งว่า พื้นที่ใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์ม ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO )จะดูถึงว่าจะพัฒนา อย่างไร เพื่อเพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน ให้CPO ของไทยสามารถแข่งขันด้านการส่งออกและ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมถึงจะทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้เป็นเชื้อเพลิง ทั้ง B10 และดีเซลB20
ในส่วนของ ราคาLPG กลุ่มหาบเร่แผงลอย และราคาเอ็นจีวีรถสาธารณะ ปตท.พร้อมปฏิบัติตามนโยบายที่จะดูแลปอีก 2 เดือน หรือถึง สิ้นเดือน กันยายนนี้ เพื่อให้ภาครัฐมีเวลาจัดเตรียมแนวทางการช่วยเหลือ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป โดยปัจจุบัน ปตท.รับภาระดูแลแอลพีจี หาบเร่แผงลอย ประมาณ 25-30 ล้านบาทต่อเดือน ราคาเอ็นจีวี รถโดยสารสาธารณะประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ปตท.เตรียมจัดทำแผนเพื่อตั้งงบประมาณ สำหรับให้ดูแลผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงการใช้พลังงานราคาถูกผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ทันกรอบงบประมาณใหม่ที่จะเริ่มต้น 1 ต.ค.2562 ซึ่งงบประมาณดังกล่าวอาจมาจากรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการคำนวนแผนการดำเนินงานขององค์กรแต่อย่างใด โดย ตาม พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ.2562 นั้น กำหนดไว้ว่า งบฯการดำเนินการมาทั้งจากงบฯของภาครัฐและ โครงการบริการทางสังคมที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ในภาวะลำบากทุกประเภท
“ปตท.จะหารือกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ในส่วนของการช่วยเหลือแอลพีจีว่าจะตรงจุดการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงได้ อย่างใด รวมไปถึงเอ็นจีวี ซึ่งจะมีแพลทฟอร์มที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งจะเริ่มได้ใน ตุลาคมนี้ และ ปตท.ก็จะกำหนดอยู่ในงบฯรายจ่ายเพื่อสังคมตอบคำถามผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนชัดเจน”นางอรวดี กล่าว
ด้านรายงานข่าว จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า นายสนธิรัตน์ ได้เร่งรัดให้ร่วมแก้ไขปัญหาซีพีโอตกต่ำ โดยให้พิจารณาเรื่องการรับซื้อซีพีโอเพิ่มเติมเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง อย่างไรก็ตาม ให้หารือกับ กรมการค้าภายในอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะให้ดูถึงสตอกซีพีโอ ที่น่าแปลกใจว่าทำไมสตอกจึงเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 แสนตัน ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ กฟผ.รับซื้อไปแล้ว รวม กว่า 226,250 ตัน โดย กฟผ.ยังเหลือปริมาณที่สามารถรับซื้อได้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อีก 133,750 ตัน จึงจะครบจำนวนการซื้อรอบ 2 ที่ 200,000 ตัน โดยราคารับซื้อไม่เกิน 16.50 บาท/กก.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด วันที่ 25 ก.ค.ราคาผลปาล์มอยู่ที่ ประมาณ 2.10-2.10 บาท/ กก. ราคา ซีพีโอ อยู่ที่ ประมาณ 16.00 -16.50 บาท/กก. นับว่าราคากระเตื้องขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 15 บาท/กก. หลังจากมีกระสข่าว กฟผ.จะกลับมาซื้อเพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และโรงสกัดส่วนใหญ่เปิดราคาเสนอขายสูงขึ้น ทั้งนี้ จากปริมาณสตอกที่เพิ่มขึ้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่หลังจากที่ กฟผ.รับซื้อไปก่อนหน้านี้ และทำให้ซีพีโอในประเทศสูงกว่ามาเลเซีย -สำนักข่าวไทย