กทม. 22 ก.ค. – ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เห็นด้วยหากจะมีการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า รวมทั้งรถขนส่งสาธารณะอื่นๆ ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่หากจะปรับลดเหลือ 15 บาทตลอดสาย นักวิชาการบอกว่าต้องใช้เวลาและต้องพิจารณากันหลายเรื่อง
เรื่องนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อาจารย์สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ให้ข้อมูลว่า การกำหนดราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม จำเป็นต้องศึกษาให้รอบด้าน เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น สัญญาสัมปทานเดินรถของบริษัทเอกชน ซึ่งแต่ละเส้นทางมีรายละเอียดแตกต่างกัน ทำให้ราคาค่าโดยสารแตกต่างกัน ต้นทุนการเดินรถแต่ละส่วนที่ไม่เหมือนกัน หากกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ลดลง ก็จะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนที่สัมปทาน หากกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำเกินไป รัฐต้องนำเงินไปอุดหนุน ก็อาจเกิดปัญหาเชิงงบประมาณ แต่หากกำหนดค่าโดยสารค่อนข้างสูง ไม่สมดุลกับระดับรายได้ของผู้โดยสาร ก็จะทำให้คนไม่สามารถจ่ายเพื่อใช้บริการได้ ก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
อีกอย่างหนึ่งคือ การใช้ดูตัวอย่างในต่างประเทศว่ามีรูปแบบกำหนดราคาอย่างไร รัฐอุดหนุนรูปแบบไหน และช่วยเหลือประชาชนอย่างไร ที่อาจนำมาปรับใช้เป็นทางออกที่เหมาะสมกับไทย เช่น อาจใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร่วมกับการกำหนดค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำ. – สำนักข่าวไทย