สธ. 22 กค..-สธ. ยืนยันประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เข้มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคทุกช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่สนามบิน ด่านทางน้ำ และด่านพรมแดนทางบก ล่าสุดในปี 2562 นี้ มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 318 ราย ไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด
นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ยกระดับการดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างเข้มข้น เน้นการเฝ้าระวังตามจุดผ่านเข้าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสนามบิน หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย ไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้นทุกระดับ โดยดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างต่อเนื่องทุกช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบิน ด่านทางน้ำ และด่านพรมแดนทางบก ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา และขอยืนยันถึงระบบป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยว่ามีความเข้มแข็งและได้มาตรฐานสากล
นายแพทย์อัษฏางค์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการคัดกรองผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างเข้มข้น ล่าสุดในปีนี้ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ดังกล่าว (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 8 ก.ค. 62) จำนวน 318 ราย หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 10-15 ราย ซึ่งไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด โดยทุกรายจะได้รับการตรวจคัดกรองตามมาตรฐานสากล นอกจากการดำเนินมาตรการที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบินแล้ว ในด่านทางน้ำ และด่านพรมแดนทางบก ก็ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ กรณีที่มีรายงานข่าวไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ H1N1 pdm09 ในประเทศเพื่อนบ้าน นั้น กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองระบาดวิทยา และกองโรคติดต่อทั่วไป ติดตามสถานการณ์โรคและกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้มีการเฝ้าระวังและให้คำแนะนำในการป้องกันโรคกรณีที่พบผู้สงสัยว่าป่วย เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อีกทั้งทางองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการการคัดกรองที่ช่องทางเข้า-ออกประเทศ จึงขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากเจ็บป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน และไม่ควรไปในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก แม้อาการจะไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จนกว่าจะหายเป็นปกติ
ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีประกาศห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่จะเดินทางยังสามารถเดินทางไปได้ โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร 3.การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ และ 5.หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบผู้ป่วยแล้ว 2,522 ราย เสียชีวิต 1,698 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2562) ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.-สำนักข่าวไทย