กรุงเทพฯ 21 ก.ค. – กฟน.ลงพื้นที่คอยรุตตั๊กวา ส่งมอบโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานสะอาด มุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานในพิธีส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานสะอาดให้แก่ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด ต่อยอดการเป็นชุมชนแห่งความพอเพียงอย่างยั่งยืน โดยมีนายสมใจ มณี ประธานชุมชนฯ เป็นผู้รับมอบ และสำนักงานเขตหนองจอก สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และโรงเรียนอิสลามลำไทร เข้าร่วมในพิธี ณ มัสยิดคอยรุตตั๊กวา ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กฟน.ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย ควบคู่กับการดำเนินการด้านการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของชุมชนยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ซึ่งถือเป็นชุมชนแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเป็นชุมชนที่น้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และยึดถือวิถีเกษตรมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งมีแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนภายนอกได้ศึกษาอีกด้วย กฟน.จึงพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาชุมชน โดยได้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบ On Grid ขนาด 5.4 kWp ในพื้นที่มัสยิดคอยรุตตั๊กวา เพื่อเป็นการนำพลังงานสะอาดมาใช้ในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้า และเป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมด้านพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ กฟน.ยังติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ 3 จุด บริเวณมัสยิด เพื่อเพิ่มแสงสว่างและอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมัสยิด พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ป้ายไวนิลภาพรวมฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน พร้อมป้ายโรลอัพให้ความรู้ในแต่ละฐาน รวม 6 ชุด รวมถึงแผ่นพับความรู้ด้านพลังงานทดแทนสำหรับแจกให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้
ทั้งนี้ กฟน.ยังให้การสนับสนุนชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2559 กฟน.ได้สนับสนุนการเพาะเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์เพื่อใช้บริโภคและจำหน่าย โดยใช้ระยะเวลาการเลี้ยงต่อครั้งประมาณ 6 เดือน มีผลผลิตประมาณ 43 กิโลกรัมต่อบ่อ ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนคิดเป็นเงินประมาณ 1,132 บาทต่อเดือน และยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานที่สนใจได้เช่นกัน นอกจากนี้ ปี 2560 กฟน.ยังสนับสนุนสื่อการเรียนรู้สำหรับศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ทำให้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจมาศึกษาดูงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนของชุมชนต่อไป.-สำนักข่าวไทย