กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – คดีแพรวา 9 ศพ ไม่มีจำเลยไปฟังคำพิพากษา จึงต้องส่งหมายให้จำเลยรับทราบ ซึ่งขณะนี้มีเพียงจำเลยที่ 2 คือ บิดา น.ส.แพรวา ที่แจ้งรับทราบหมาย ขณะที่จำเลยอีก 3 คน ทั้ง น.ส.แพรวา มารดา และผู้ครอบครองรถฮอนด้าซีวิคคันที่พุ่งชนรถตู้ ยังไม่มีการแจ้งรับทราบหมาย ทำให้ยังไม่เริ่มนับเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 30 วัน ตามคำสั่งศาล ส่งผลให้การที่ฝ่ายโจทก์จะยื่นขอบังคับคดี ยังทำไม่ได้ตามไปด้วย แล้วจะทำได้เมื่อไร ติดตามจากรายงาน
หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้ น.ส.แพรวา, บิดา, มารดา และผู้ครอบครองรถเก๋งซีวิคที่พุ่งชนรถตู้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บอีก 4 คน ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 25 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่จำเลยทั้ง 4 คน ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ฝ่ายโจทก์จึงส่งคำบังคับให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาไปยังจำเลย ซึ่งจะต้องชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน หลังทราบหมาย หากไม่ปฏิบัติตาม ฝ่ายโจทก์สามารถยื่นเรื่องขอหมายบังคับคดีได้
มีคำถามเกิดขึ้นว่า ระยะเวลา 30 วัน เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด ตอนนี้สิ้นสุดหรือยัง และสามารถเริ่มขั้นตอนบังคับคดีได้หรือยัง
หัวหน้าทีมทนายโจทก์คดีนี้ ให้ข้อมูลว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฝ่ายโจทก์ส่งคำบังคับไปยังจำเลย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ตามขั้นตอนกฎหมาย เจ้าหน้าที่ศาลจะนำหมายไปแจ้งแก่จำเลยตามภูมิลำเนา หากมีผู้รับ หากมีผู้เซ็นรับหมายด้วยตัวเองหรือครอบครัว ถือว่ารับทราบหมายแล้ว และเริ่มนับระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่รับหมาย แต่หากไม่มีผู้รับหมาย เจ้าหน้าที่จะปิดหมายไว้ในที่สังเกตเห็นได้ง่าย เช่น รั้วบ้าน ประตู โดยมีกำหนดว่า เมื่อปิดหมายครบ 15 วัน ให้ถือว่ารับทราบหมายโดยปริยาย และเริ่มนับระยะเวลาต่อไป 30 วัน เพื่อชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา ทำให้มีเวลารวมเป็น 45 วัน
มีรายงานว่า ขณะนี้จำเลยที่ 2 คือ บิดา น.ส.แพรวา รับทราบหมายแล้ว เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา หากนับเวลาต่อไป 30 วัน จะสิ้นสุดวันที่ 4 สิงหาคม แต่คดีนี้ศาลให้ชดใช้ร่วมกัน จึงต้องรอให้จำเลยที่ 1, 3 และ 4 รับทราบหมายให้ครบ จึงจะเริ่มนับเวลา 30 วัน ซึ่งจำเลยทั้ง 3 คน มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตศาล จึงต้องส่งหมายข้ามเขต และขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งรับทราบหมาย ทำให้ยังไม่สามารถระบุวันที่แน่นอนได้ และจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีได้เมื่อใด แต่ทีมทนายยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้เวลาเนิ่นนาน
ส่วนกรณีที่มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตามกฎหมายฉบับใหม่ให้เริ่มนับเวลาชดใช้เยียวยาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา แม้จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา ไม่จำเป็นต้องรอให้จำเลยรับหมายนั้น หัวหน้าทีมทนายฯ ชี้แจงว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จำเลยที่ 1 คือ น.ส.แพรวา และจำเลยที่ 3 คือ มารดา ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า หากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา จะต้องส่งคำบังคับนั้นให้แก่จำเลยด้วย และในวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในรายงานของศาลระบุให้มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลย
คดีนี้ศาลให้จำเลยทั้ง 4 คน ร่วมกันชดใช้เยียวยา 25 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้อง จนกว่าจะชดใช้แล้วเสร็จ หากนับถึงวันนี้เกือบ 9 ปีแล้ว ที่จำเลยสู้คดีจนถึงชั้นฎีกา ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเลขที่ต้องชำระขยับเพิ่มขึ้นไปที่ราว 43 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นจนกว่าจะชดใช้แล้วเสร็จ
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการชดใช้เยียวยา คือ ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างที่ศาลได้วินิจฉัยเป็นแนวทางให้เห็นว่า บิดามารดา ผู้ปกครอง ไม่ควรสนับสนุนการกระทำที่ไม่สมควร เช่น การปล่อยให้บุตรหลานขับรถ ทั้งที่ยังเป็นเยาวชน เมื่อเกิดเหตุโดยประมาท ศาลจึงวินิจฉัยให้ร่วมรับผิดด้วย. – สำนักข่าวไทย