19 ก.ค. – อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นักวิจัยพะยูน เสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมบริหารจัดการพื้นที่ 3 จังหวัด ตรัง กระบี่ สตูล เพื่อแก้ปัญหาพะยูนเกยตื้นตายอย่างเป็นระบบ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังคงไลฟ์สดความน่ารักของ “มาเรียม” พะยูนน้อยวัย 7 เดือน ให้ประชาชนได้ชมอยู่เป็นระยะ อย่างช่วงที่น้ำทะเลลดต่ำลง จะได้เห็น “เจ้ามาเรียม” นอนหงายพุงหลับสนิทอยู่ในร่องน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างวันนี้เร่งป้อนนมขวดแรกให้ตั้งแต่เช้า พร้อมหญ้าทะเลอีก 100 กรัม เพื่อให้ “มาเรียม” มีน้ำหนักได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน คือ 60 กิโลกรัม จากตอนนี้ที่มีน้ำหนักเพียง 32 กิโลกรัม แต่โชคดีมีพัฒนาการดีขึ้น เริ่มหาหญ้าทะเลกินเองได้แล้ว
ดร.มาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งเคยใช้สัญญาณดาวเทียมติดตามตัวพะยูนเป็นเวลา 60 วัน เมื่อปี 2559 และ 2560 ศึกษาการแหล่งอาหารและใช้ชีวิตของพะยูน เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองให้เกิดการอนุรักษ์พะยูนอย่างเป็นระบบ พบว่าปัจจุบันพะยูนกระจายอยู่ใน 3 จังหวัด ตรัง กระบี่ และสตูล แหล่งใหญ่อยู่ที่ตรัง มีมาก 150-180 ตัว ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการดูแลคุ้มครองพะยูนระหว่างภาครัฐกับประชาชน ทำให้อัตราการตายลดลง และมีการเกิดและอยู่รอดเพิ่มขึ้น
ส่วนพะยูนเกยตื้นตายยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่พบมากขึ้นทั้งใน จ.ตรังและกระบี่ จึงเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมบริหารจัดการพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลัก ผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้แทนกรมอุทยานฯ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล เข้าร่วมด้วย เพื่อศึกษาแหล่งหญ้าทะเล และดึงชุมชนเข้าช่วยอนุรักษ์พื้นที่ จากนั้นนำข้อมูลทั้ง 3 จังหวัดมารวมกัน จะได้ภาพรวมของการจัดการอนุรักษ์พะยูนชายฝั่งตรัง-กระบี่-สตูล เช่น ข้อมูลการเคลื่อนย้าย เส้นทางของพะยูน เมื่อรู้เส้นทางก็สามารถจัดโซนนิ่งอนุรักษ์พะยูนได้อย่างเป็นระบบ. – สำนักข่าวไทย