กรุงเทพฯ 10 ก.ค.- “เชาวนะ” เลขาศาลรัฐธรรมนูญ แจงกฎหมายใหม่ ต้องกำหนดบทละเมิดอำนาจศาลฯ เหตุคำวินิจฉัยมีผลกระทบวงกว้าง ผูกพันทุกองค์กรของรัฐ จึงต้องคุ้มครองตุลาการฯ ให้มีอิสระไม่เกรงกลัวการถูกข่มขู่คุกคามในการวินิจฉัย แต่ถ้าวิจารณ์โดยสุจริต ไม่หยาบคาย -อาฆาตทำได้
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทยจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง”การละเมิดอำนาจศาล : แนวคิดและการปรับใช้ โดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ ผอ.หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการบัญญัติให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลก็เพื่อคุ้มครองให้องค์กรตุลาการสามารถทำหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ ในต่างประเทศได้มีการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้หลายประเทศ เยอรมนี สเปน เกาหลีและสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดองค์คณะที่มีอำนาจในการพิจารณาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขั้นตอนและวิธีการพิจาณาความผิดละเมิดอำนาจศาลและบทลงโทษที่แตกต่างกัน
นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ในส่วนของศาลปกครองการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการให้การพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมไม่ได้มุ่งคุ้มครองตุลาการศาลปกรอง โดยมูลละเมิดของศาลปกครองแบ่งเป็น 2 กรณีคือ การละเมิดที่เกิดขึ้นภายในศาลหรือบริเวณศาล และการละเมิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในบริเวณศาล ซึ่งโทษในฐานความผิดละเมิดศาลปกครอง คือ การตักเตือน โดยมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ การไล่ออกจากบริเวณศาล การลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
“ที่ผ่านมา ศาลปกครองเคยมีคำสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลเนื่องจากมีถ้อยคำในอุทธรณ์มีลักษณะที่เป็นการเสียดสีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ใช่การวิจารณ์ การพิจารณาหรือพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตทางวิชาการ แต่เป็นการเสียดสี กล่าวหา ใส่ความให้ขาดความน่าเชื่อถือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ศาลปกครองจึงมีคำสั่งจำคุก รอลงอาญากำหนด 3 ปี และปรับ 5 หมื่นบาท และมีบางคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงโทษโดยไม่รอลงอาญา”นายประสิทธิ์ศักดิ์กล่าว
ขณะที่นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในส่วนการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งบทลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 3 กรณี คือ ตักเตือน โดยจะมีคำสั่งตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ การไล่ออกจากบริเวณศาล และการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีสามารถทำได้แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้ายเพื่อไม่ให้เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล อย่างไรก็ตามการที่ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลก็เนื่องจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลกระทบในวงกว้างที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่ความในคดีเช่นศาลอื่น แต่ผูกพันองค์กรของรัฐอื่น ๆ ด้วย
“เจตนารมณ์ในการกำหนดบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่ถูกข่มขู่ คุกคามให้เกรงกลัว และสามารถอำนวยความยุติซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของระบบกฎหมายและการคุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” นายเชาวนะ กล่าว.-สำนักข่าวไทย