กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – กรมศุลกากรเดินหน้าปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายเดือนมิถุนายนกว่า 514 ล้านบาท พร้อมขยายเวลารับชำระค่าภาษีอากรเพิ่มถึง 30 เม.ย.63
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยผลการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องของกรมศุลกากรเดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 1,798 แฟ้มคดี รวมมูลค่าของกลางประมาณ 514.29 ล้านบาท แยกเป็นคดีลักลอบ 451 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 73.45 ล้านบาท คดีหลีกเลี่ยงอากร 1,233 คดี มูลค่าสินค้าประมาณ 200.59 ล้านบาท และคดีสินค้าต้องห้าม 114 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 240.25 ล้านบาท
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก คาดว่าความต้องการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกภายในประเทศยังคงมีและอาจมีการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และมีแนวโน้มนำเข้าโดยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กรมศุลกากรได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ดำเนินการติดตาม กำหนดเป้าหมายต้องสงสัยที่จะกระทำความผิดทางศุลกากร และตรวจสอบเพื่อติดตามและขยายผลอย่างต่อเนื่อง พร้อมสั่งการให้กองสำนักงานและด่านศุลกากรทุกแห่งเข้มงวดตรวจสอบของประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก หรือของที่มีการสำแดงพิกัด หรือมีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อป้องกันการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงทางศุลกากร ส่วนกรณีตรวจพบการกระทำความผิดทางศุลกากรที่เกี่ยวกับของประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กรมศุลกากรจะส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป โดยไม่เปรียบเทียบงดการฟ้องร้องในชั้นศุลกากร
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2561-2562 กรมศุลกากรสามารถจับกุมคดีลักลอบและหลีกเลี่ยงนำเข้าเศษพลาสติก 103 คดี คิดเป็นมูลค่า 17.5 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 4,043 ตัน) โดยปีงบประมาณ 2561 จับกุมได้ถึง 86 คดี คิดเป็นมูลค่า 14.5 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 3,664 ตัน) และปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.6161 – พ.ค.62) สามารถจับกุมได้แล้วถึง 17 คดี คิดเป็นมูลค่า 3 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 379 ตัน)
ทั้งนี้ กรมศุลกากรแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ หากมีผู้แอบอ้างชื่อกรมศุลกากร เพื่อธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมากลุ่มมิจฉาชีพมีวิธีการแอบอ้างชื่อกรมศุลกากร ทำการหลอกลวงผู้เสียหายไปแล้วหลายกรณี เช่น อ้างว่ามีพัสดุส่งทางไปรษณีย์มาจากต่างประเทศ แต่ติดปัญหาด้านภาษีกับกรมศุลกากรและแจ้งให้จ่ายเงินเพื่อเคลียร์ปัญหา กรมศุลกากรขอชี้แจงว่าการทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับการชำระภาษีจะต้องมีเอกสารยืนยันและต้องไปชำระที่ทำการไปรษณีย์ที่ระบุในใบแจ้งฯ เท่านั้น หรือหลอกให้โอนเงินออนไลน์ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ใจก่อนการโอนเงิน
นอกจากนี้ กรมศุลกากรขยายระยะเวลาโครงการรับชำระค่าภาษีอากรเพิ่ม ณ จุดเดียว (One Stop Service) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังปีแรกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ 158 ราย โดยผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการปีนี้สามารถทำหนังสือแสดงความประสงค์ถึงกองตรวจสอบอากร กรมศุลกากร ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ สามารถชำระค่าอากรและค่าภาษีอื่น ๆ ให้ครบถ้วนได้ที่กองตรวจสอบอากร กรมศุลกากร โดยไม่ต้องดำเนินพิธีการตามท่าหรือที่ต่าง ๆ และจะได้รับการพิจารณาผ่อนผันการปรับค่าอากร ได้รับการลดเงินเพิ่มอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม และไม่ต้องเสียเบี้ยปรับค่าอากร แต่ยังคงต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ นี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยลักลอบหนีศุลกากร หรือมีเจตนาทุจริตปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร หรือนำเข้าสินค้าเป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย ตรวจค้น หรือถูกดำเนินคดีในความผิดทางศุลกากรโดยหน่วยงานอื่น เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ขอสงวนสิทธิ์พิจารณาไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ในกรณียื่นเอกสารไม่ครบถ้วน ไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานศุลกากร ไม่มาชำระค่าอากรและค่าภาษีอื่น ๆ ที่ขาดให้ครบถ้วน หรือกรณีอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีเจตนาที่ไม่สุจริต. – สำนักข่าวไทย