กรุงเทพฯ 8 ก.ค. – “กฤษฎา” ประกาศแตกหักสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด พร้อมเร่งพิจารณากฎหมายห้ามนำเข้า ลั่นไม่ต้องการทำร้ายประชาชน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้เร่งดำเนินการพิจารณาข้อกฎหมายหรือผู้เกี่ยวข้องให้ไปช่วยกันพิจารณาหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงว่า 1.ปัจจุบันมีสารธรรมชาติหรือวิธีการกำจัดวัชพืช ศัตรูพืชอื่นใดที่สามารถใช้แทน 3 สารเคมีวัตถุอันตรายที่ใช้ในการเกษตร คือ พาราควอต ไกลโฟเซส คอร์ไพริฟอส ได้หรือยัง 2.ตามกฎหมายวัตถุอันตรายและหรือกฎหมายอื่น ๆ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มีอำนาจออกคำสั่งห้ามใช้หรือห้ามนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ทันทีหรือไม่
นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้ย้ำกับปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้เวลาภายใน 7 วัน ต้องได้ข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกผ่านปลัดกระทรวงเกษตรฯ ส่งมาถึง รมว.เกษตรฯ ถ้ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ พร้อมจะลงนามก่อนออกจากตำแหน่ง เพราะขณะนี้แม้มีมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด แต่กลับมีการร้องเรียนเข้ามาว่ายังมีการลักลอบนำเข้าสารเคมีมาในราชอาณาจักรและส่งผลการลดนำเข้าอาจไม่ได้ผลเป็นรูปธรรม หากหน่วยงานยังไม่เห็นด้วยกับการห้ามนำเข้าทันที จะมีมาตรการเข้มงวดที่ได้ผลมีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบันได้หรือไม่ เป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงงานที่รับผิดชอบต้องชี้แจงต่อสาธารณชนว่าจะป้องการลักลอบนำเข้าสารเคมีอย่างไร ถ้าจะยกเลิกใช้สารอีก 2 ปีข้างหน้าตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย
“มาตรการทั้งหมดจะพยายามทำให้เป็นผลสำเร็จ เพราะหลายฝ่ายบอกว่ายกเลิกนำเข้าหรือขึ้นทะเบียนได้ จึงต้องให้ข้าราชการที่มีหน้าที่ไปตรวจสอบว่าสามารถทำได้หรือไม่ ถ้ามีครบทั้ง 2 ข้อดังกล่าว พร้อมจะสั่งยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทันที เพราะไม่ต้องการทำร้ายประชาชน” นายกฤษฎา กล่าว
รายงานข่าวกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า มีเรื่องร้องเรียนจากหลายพื้นที่ถึงการลักลอบนำเข้าสารจากต่างประเทศจำนวนมาก และการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ได้เรียกค่าอุปกรณ์การอบรมจากเกษตรกรและผู้รับจ้างพ่นยา รายละ 450-500 บาท เมื่อเรื่องร้องเรียนมาถึง รมว.เกษตรฯ ทำให้ไม่พอใจอย่างมาก จึงตัดสินใจที่จะหาช่องทางตามกฎหมายห้ามนำเข้า3 สาร เพราะก่อนหน้านี้มีการหารือถึงค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในการอบรมควรให้บริษัทเอกชน ห้างร้านต่าง ๆ ที่จำหน่ายสารเคมีออกค่าใช้จ่ายร่วมกับภาครัฐในการจำกัดการใช้สารด้วย นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้ากลับไม่ได้ลดลงร้อยละ 50 ตามที่เสนอไว้ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย.-สำนักข่าวไทย