สธ.4 ก.ค.-แพทย์เตือนไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เสี่ยงติดเชื้อวัณโรคควรรีบพบแพทย์รักษา ซึ่งหายได้ หากพบตั้งแต่ระยะแรก
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ เมื่อผู้ป่วยวัณโรค ไอ จาม จะทำให้เกิดละอองฝอยฟุ้งกระจายในอากาศ ซึ่งผู้ที่สูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย อนุภาคที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่จมูกหรือลำคอ ซึ่งสามารถก่อโรคตำแหน่งที่สัมผัสได้ แต่อนุภาคที่มีขนาดเล็กจะเข้าไปสู่ถุงลมในปอด หากภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรงจะไม่สามารถควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ทำให้เกิดการติดเชื้อ
วัณโรคสามารถเกิดได้ในอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด (ร้อยละ 80) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย วัณโรคนอกปอดอาจพบได้ในอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก (มักพบที่กระดูกสันหลัง) เยื่อหุ้มปอด ระบบทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ ผิวหนัง เป็นต้น สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกมักเป็นเฉพาะตัวและมีโอกาสเจอได้น้อย โดยจะเกิดจากปอดก่อนแล้วขึ้นไปที่โพรงจมูก พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด ซึ่งถือเป็นกรณีที่พบได้ค่อนข้างยาก โดยทั่วไปอาการของวัณโรคหลังโพรงจมูกผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆ อาจจะเจอต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือ มีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบว่ามีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ไอแห้ง ไอมีเสมหะ ไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ มีไข้ต่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา เนื่องจากวัณโรคปอดและนอกปอดเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเด็ก รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากภูมิต้านทานของร่างกายทำงานได้ดี ความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคจะลดลง
ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากพบตั้งแต่ระยะแรก ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และที่สำคัญควรรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมีสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอ.-สำนักข่าวไทย