กทม. 28 มิ.ย. – การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจข้ามสายงานไปทำในสายงานที่ไม่ถนัด เช่น พนักงานสอบสวน ที่มีลักษณะงานยุ่งยาก ซับซ้อน กดดัน ต้องมีความรู้ด้านการสอบสวน และการทำสำนวนคดี เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน ระบุการโยกย้ายเช่นนี้อาจทำให้ตำรวจที่ไม่มีประสบการณ์เกิดความเครียดจนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตายของรองสารวัตรสอบสวนที่ชุมพร รายล่าสุด เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการถูกโยกย้ายจากสายงานป้องกันและปราบปราม ไปอยู่ในตำแหน่งงานสอบสวน โดยในจดหมายลาตายระบุว่า เป็นสายงานที่ไม่ถนัด
เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน บอกว่า นี่เป็นอีกตัวอย่างของการแต่งตั้งโยกย้าย เปลี่ยนสายงานกะทันหันจนตำรวจเกิดความเครียดจากความไม่ถนัดและงานที่กดดัน เพราะตำรวจหลายรายไม่มีประสบการณ์ทำงานสอบสวนมาก่อน
เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวนให้ข้อมูลอีกว่า แม้นายตำรวจรายนี้จะเรียนจบนิติศาสตร์ แต่การทำหน้าที่พนักงานสอบสวนนอกจากความรู้ด้านกฎหมายแล้ว ยังต้องรู้ด้านสอบสวนและการทำสำนวนคดี เพราะเป็นหน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งลักษณะงานของพนักงานสอบสวนจะยุ่งยากและซับซ้อนกว่าสายงานสืบสวนและปราบปราม
มีข้อมูลจากสมาคมพนักงานสอบสวนระบุว่า ปัจจุบันพนักงานสอบสวนมีอัตราบรรจุ 12,000 ตำแหน่ง แต่บรรจุได้จริงเพียง 9,000 ตำแหน่งเท่านั้น และในจำนวนนี้กว่า 3,000 คน ถูกดึงไปช่วยราชการในหน่วยงานต่างๆ ทำให้ขณะนี้มีพนักงานสอบสวนประจำอยู่โรงพักทั่วประเทศเพียง 6,000 คนเท่านั้น ส่งผลให้คนที่เหลือมีภาระหนักจากการทำสำนวนคดี ซึ่ง สตช.มีข้อกำหนดว่าแต่ละคนควรรับทำสำนวนไม่เกิน 70 คดีต่อปี
แต่ละปีสถาบันส่งเสริมการสอบสวนซึ่งเป็นสถานที่ผลิตพนักงานสอบสวน จะส่งไปบรรจุตามโรงพักต่างๆ ปีละกว่า 400 คน ต้องใช้เวลาฝึกฝนการทำสำนวน 4-5 ปี จึงจะเชี่ยวชาญ แต่ระหว่างทางมีคนเปลี่ยนไปทำสายงานอื่นหรือลาออกจำนวนมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่เติบโตยาก งานเครียด รายได้น้อยเมื่อเทียบลักษณะงานที่ต้องรับผิดชอบ. – สำนักข่าวไทย