ทำเนียบรัฐบาล 24 มิ.ย. – บอร์ดอีอีซีไฟเขียวรถไฟเชื่อม 3 สนามบินและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 รวม 271,900 ล้านบาท คาดลงนาม ก.ค.นี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)หรือคณะกรรมการอีอีซี กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการอีอีซี ว่า ที่ประชุมที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยรับทราบว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2562 ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเห็นชอบการจัดทำรายงาน Environmental Impact Assessment Report หรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ช่วงดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา และคาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะสรุปแผนส่งมอบพื้นที่กับเอกชนเป็นรายเดือนได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจและให้ความสำคัญมาก เนื่องจากจะมีผลต่อการคืบหน้าของโครงการ ด้านการลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประชุมคาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะถือว่าเป็นโครงการฯ ร่วมทุนรัฐและเอกชนในพื้นที่อีอีซี เป็นโครงการแรกที่เป็นผลงานของรัฐบาล
คณะกรรมการอีอีซี ยังรับทราบผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 และอนุมัติการคัดเลือกผลการเจรจา พร้อมมอบให้กรรมการอีอีซีพิจารณาร่างสัญญาที่ผ่านมาการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วและกลับมาให้ความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกภายในเดือนกรกฎาคม 2562 เช่นกัน โครงการฯ นี้ EIA ผ่านแล้ว โดยคำอธิบายสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป หลังจากนั้น กนอ.จะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนเพื่อบริหารจัดการถมทะเลได้
สำหรับความคืบหน้าจากทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ถือเป็นการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศสร้างการลงทุนมูลค่าสูงรวม 2 โครงการ 271,900 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง ฯ 224,000 ล้านบาท และโครงการท่าเรือมาบตาพุด 47,900 ล้านบาท
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี ยังรับทราบการตั้งคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ ทำหน้าที่รับเรื่องอุทธรณ์โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยคณะอนุกรรมการอุทธรณ์มีเวลาพิจารณาเรื่องที่เอกชนยื่นอุทธรณ์เสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งระยะเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว
ส่วนกรณีที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (ในนามกลุ่มซีพี) และ 4 พันธมิตรได้ร้องต่อศาลปกครองกรณีการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นั้น จำเป็นต้องรอให้ศาลตัดสินก่อนว่าสามารถเปิดอ่านซองข้อเสนอได้หรือไม่ ระหว่างนี้ทางคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาบริษัทอื่น ๆ ที่ยื่นข้อเสนอไปก่อน เมื่อศาลปกครองตัดสินจึงจะสามารถเปิดอ่านซองข้อเสนอของบริษัท ธนโฮลดิ้งได้ และประกาศผู้ชนะการประมูลโครงการต่อไป กรณีกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ร้องต่อศาลปกครอง ต้องรอศาลปกครองตัดสิน จึงจะพิจารณาข้อเสนอได้เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย