รร.คอนราด 18 ส.ค.-รมว.ยธ.ประกาศเดินหน้าปรับแก้ยาบ้าออกจากยาเสพติดประเภท 2 ลดความรุนแรง ให้นายอำเภอ กำนัน หมอ เป็นพระเอกแก้ผู้เสพยาในชุมชน ขณะที่ รมว. สธ.เผยกระบวนการแก้กฎหมาย ปรับยาบ้าออกจากยาเสพติดประเภท 1 เริ่มแล้ว ไม่นานเกินรอ
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เปิดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติด ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยว่า ด้วยพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ตนกล้าออกมาพูดเรื่องแก้กฎหมายยาเสพติด ให้ผู้เสพยาเสพติดกลับไปอยู่ในมือหมอ ที่ผ่านมา แม้จะใช้กำลังแค่ไหน ทั้งทหาร ตำรวจก็แก้การเสพยาเสพติดไม่ได้ เพราะไม่ใช่หมอ การป้องกันบำบัดต้องเริ่มและจบที่ชุมชนจะแก้ปัญหาได้ วันนี้ เราประกาศแก้ยาเสพติดในชุมชน 81,905 ชุมชน ในเดือนหน้าจะเรียกประชุมผู้ว่าฯ นายอำเภอ ให้เป็นพระเอก ติดอาวุธให้ แก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เพราะไม่มีใครรู้จักพื้นที่ชุมชนได้ดีเท่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การคัดกรองคัดแยกต้องวางแผนงบประมาณอย่างดี
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ผลสำรวจร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการแก้ปัญหายาเสพติดที่ต้องปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดให้หมอเป็นผู้นำ และปรับระดับยาบ้า ในบัญชียาเสพติด ที่จะทำให้ลดราคายาบ้าลงเพื่อลดความต้องการค้าและยืนยันจะผลักดันให้ประกาศปรับยาบ้าออกจากยาเสพติดประเภท 1 อาจเป็นประเภท 2 ยืนยันการปราบนำหรือทำสงครามยาเสพติดแก้ปัญหาได้แค่สั้น ๆ แต่ระยะยาวแก้ไม่ได้
ทั้งนี้ ในการส่วนการปราบปราม ป.ป.ส.ได้จัดทำบัญชีนักค้าไว้แล้วมี5กลุ่มใหญ่ 60 เครือข่าย ซึ่งการสกัดกั้นปราบปราม ยังเข้มข้น แต่ใช้หมอ และชุมชนนำแก้ปัญหายาเสพติด
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวในที่ประชุมว่า การปราบปรามยาเสพติดที่ทำมา ไม่ได้ทำให้จำนวนยาเสพติดลดลง แต่ละปีมีจำนวนยาเสพติดที่เผาทำลายที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาต้องมีการปรับเปลี่ยน ให้ผู้เสพเท่ากับผู้ป่วย เป็นเหมือนโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อาชญากร เพราะไม่เช่นนั้นต่อให้มีการจับขัง ห้องขังก็ไม่เพียงพอ ต้องสร้างสมดุล ครอบคลุม และเกิดการบูรณาการ เน้นการเข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้ ไม่สร้างตราบาปให้กับผู้เสพ โดยต้องดำเนินการในลักษณะการป้องกัน และเสริมสร้างสุขภาพในระดับชุมชน ให้เครือข่ายรพ. 800 แห่ง ร่วมดูแล และมีอาสาสมัคร 1 ล้านคนร่วมดูแล
ทั้งนี้ กระบวนการแก้ไขปัญหายาสเพติด ได้เริ่มขึ้นแล้ว เตรียมแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้ลดโทษผู้เสพ และนำสู่กระบวนการรักษา โดยต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือ ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม .-สำนักข่าวไทย