กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – ปตท.เร่งจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีรองรับหากรัฐต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุล่าช้า เจราจารายใหม่ทำสัญญาระยะยาว สรุปเข้าบอร์ดเดือนกันยายน พร้อมตั้งกองทุนร่วมทุนและหน่วยงานร่วมทุนนวัตกรรมรองรับก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงและเทรนด์โลกที่ลดใช้น้ำมัน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.เตรียมแผนกรณีการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุปี 2565-2566 ล่าช้า กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศและกำลังผลิตปิโตรเคมี โดย ปตท.เร่งแผนการก่อสร้างสถานีรับก๊าซแอลเอ็นจี และเจรจาซื้อแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว ซึ่งขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ซื้อและกำลังเจรจาผู้ขายรายใหม่ได้เงื่อนไขที่ดี พร้อมกับการเจรจากับเชลล์และบีพี โดยจะมีการซื้อรายละ 1-1.2 ล้านตัน/ปี รวมประมาณ 3 ล้านตัน/ปี จะนำเสนอเข้าบอร์ด ปตท.เดือนกันยายนนี้ หากได้ราคาแอลเอ็นจีที่ดีจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลงด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทในเครือ ปตท.กำลังปรับแผนการผลิต โดยโรงกลั่นไทยออยล์จะกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้แนฟทา และ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล หรือพีทีทีจีซี ก็ปรับการผลิตปิโตรเคมีจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมาเป็นแนฟทาทดแทนมากขึ้น
“ปตท.วางแผนจะซื้อแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว 5 ล้านตัน/ปี ที่เหลือจะเป็นราคาสปอตหรือสัญญา 3-5 ปี โดยสัญญาระยะยาวขณะนี้มาจากกาตาร์ 2 ล้านตัน อีก 3 ล้านตันจะสรุปสัญญาและเสนอเข้าบอร์ดเดือนหน้า” นายเทวินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ปีนี้ ปตท.ทบทวนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปรับลดแผนการลงทุนปี 2559 จาก 50,839 ล้านบาท ซึ่งตั้งไว้เมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลงเหลือ 43,307 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลงมาที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยลดการลงทุนที่ไม่คุ้มทุนในสภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ แต่ระยะต่อไป ปตท.เพิ่มแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าและคลังแอลเอ็นจี และระบบท่อส่งก๊าซฯ และน้ำมัน เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ทำให้แผนลงทุน 5 ปี (2559 – 2563) ปตท. มีวงเงินเพิ่มขึ้นเป็นจาก 297,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 300,000 ล้านบาท
สำหรับเงินลงทุนปี 2559 ที่ลดลง 7,532 ล้านบาท มีโครงการที่ยกเลิกการลงทุนเป็นโครงการที่จะผลิตแอลพีจีเพิ่มจากโรงแยกก๊าซวงเงิน 2,800 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลืออีกกว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้าแต่จะมีการลงทุนแน่นอน ซึ่งจากนโยบายรัฐบาลให้เร่งการลงทุน ปตท.ก็เร่งแผนที่ลงทุนชัดเจนให้เร็วขึ้น เช่น โครงการขยายการลงทุนรับแอลเอ็นจีเฟส 2 สถานีที่ 1 เพิ่มอีก 1.5 ล้านตัน จากเดิม 5 ล้านตัน/ปี วงเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ,โครงการขยายเครือข่ายท่อก๊าซเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ,โครงการสร้างสถานีรับแอลแอ็นจีแห่งที่ 2 กำลังพิจารณาจะสร้างขนาด 5 ล้านตัน/ปี หรือ 7.5 ล้านตัน/ปี โครงการย้ายคลังและผลิตยางมะตอยน้ำอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท.จากทรัพยากรในประเทศและปิโตรเลียม อย่างไรก็ตาม จากก๊าซธรรมชาติที่ลดน้อยลง รวมถึงทิศทางตลาดโลกที่เปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น รถยนต์มุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า กลุ่ม ปตท.จึงปรับแผนได้กำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อเติบโตในอนาคตรองรับทิศทางตลาดที่มีลูกค้าจะเป็นศูนย์กลางหลักและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต (Disruptive technologies) โดยจะเสนอแผนที่ชัดเจนปลายปีนี้เน้นเรื่องประสริทธิภาพและนวัตกรรมภายใต้โครงการ “Make It Happen” ประกอบด้วย การดำเนินการที่ทำทันที (Do Now) โอกาสการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ (Decide Now) และ การแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน (Shape Now) กลยุทธ์ที่กลุ่ม ปตท.สามารถดำเนินการได้ทันที คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารค่าใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Productivity Improvement Program) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งด้านการสร้างรายได้ การลดต้นทุน และการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น
สำหรับโอกาสการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจนั้น กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ได้แก่ ระบบท่อ คลังก๊าซฯ และน้ำมัน ขยายธุรกิจที่มีความเชียวชาญสู่ต่างประเทศ ,ลงทุนในสายโซ่อุปทานของแอลเอ็นจี ที่คาดว่าประเทศไทยจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้นในอนาคต โดยจะร่วมศึกษากับ ปตท.สผ.ผลิตแอลเอ็นจีจากแหล่งปิโตรเลียมต่างประเทศ
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.จัดตั้งหน่วยงาน ExpresSo (Express Solution) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวิเคราะห์ คัดเลือกแนวคิดธุรกิจใหม่ ๆ จัดทำเป็นโมเดลธุรกิจต้นแบบ ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ก็จะนำมาต่อยอดขยายผลสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ต่อไป และจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (CVC;Corporate Venture Capital ) และด้านสังคม ปตท. มีแนวทางยกระดับการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ให้มีความยั่งยืนขึ้นโดยการสนับสนุนจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แสวงหาการลงทุนที่สามารถเลี้ยงตนเองได้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา เช่น โครงการปลูกไม้เมืองหนาวเพื่อช่วยพัฒนาวิถีเกษตรกร โครงการโรงไฟฟ้าขยะ และโครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชนสำหรับร้านคาเฟ่ อเมซอน เป็นต้น
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. กล่าวว่า โครงการร่วมลงทุน CVC เบื้องต้นจะจัดตั้ง 50-100 ล้านบาท ซึ่งการลงร่วมลงทุนก็จะเหมือนบริษัทปิโตรเลียมทั่วโลกที่มีการตั้งกองทุนนี้เพื่อแสวงหาการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก โดยในต่างประเทศจะใช้เงินลงทุนประมาณร้อยละ 0.1 ถึง0.7 ของเม็ดเงินลงทุนแต่ละปี
ทั้งนี้ ปตท.แถลงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2559 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 24,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากไตรมาสแรกที่มีกำไรสุทธิ 23,669 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมงวดครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 48,548 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ทยอยปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่ลด โดยครึ่งปีหลังคาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะปรับขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ 37.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 42-46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ค่าการกลั่นอาจอ่อนค่าลงจาก 6.37 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเป็น 4.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ธุรกิจปิโตรเคมีแนวโน้มผลประกอบการลดลง อย่างไรก็ตาม จากที่ ปตท.มีธุรกิจจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จึงคาดว่าผลประกอบการยังคงแข็งแกร่ง.-สำนักข่าวไทย