กรุงเทพฯ 24 พ.ค. – กรมชลฯ เร่งระบายน้ำประตูน้ำบางแก้วลงแม่น้ำยม จังหวัดพิจิตร หลังแห้งขอด ชี้ลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำช่วยแก้แล้ง
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงสถานการณ์แม่น้ำยมแห้งขอด ส่งผลต่อพื้นที่เกษตรจังหวัดพิจิตร โดยนาข้าวสองฝั่งแม่น้ำเสียหายว่า ลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อนเก็บน้ำไว้ตอนบนลุ่มน้ำทำให้ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะระบายลงมาในแม่น้ำยมในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับพื้นที่จังหวัดพิจิตร มีเพียงอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยม 3 แห่งคือ ฝายยางสามง่าม ฝายยางพญาวัง และฝายยางพิจิตรหรือฝายยางบางคลาน โดยที่ผ่านมาปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้หน้าฝายตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝน ได้มีการนำไปใช้ทำนาปรังจนหมดแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2561 ถึง มีนาคม 2562 ทำให้ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จึงทำการระบายน้ำจากประตูระบายน้ำบางแก้ว ลงแม่น้ำยม ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน ปริมาณวันละ 170,000 ลูกบาศก์เมตรเพื่อรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำ และตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จะเพิ่มการระบายเป็น วันละ 260,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อไป
สำหรับกรณีฝายยางสามง่ามชำรุดไม่สามารถพองยางเพื่อการเก็บกักน้ำได้นั้น เบื้องต้นโครงการชลประทานพิจิตร ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำดำเนินการกั้นกระสอบทรายเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป และขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2562 เพื่อซ่อมแซมฝายให้กลับมาใช้ได้ตามปกติเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยปรับปรุงให้เป็นฝายแบบพับได้แทนฝายยาง
ส่วนกรณีที่มีสื่อเสนอข่าวนาข้าวแห้งตายเสียหายแล้วกว่า 5,000 ไร่ นั้น กรมชลประทานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตชลประทาน บริเวณรอยต่อระหว่างตำบลเนินปอและตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม มีเกษตรกรได้เพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง จำนวน 2 แปลง เป็นพื้นที่รวมประมาณ 15 ไร่ ไม่ใช่ 5,000ไร่ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ นาข้าวแปลงดังกล่าวอยู่ด้านท้ายพื้นที่รับน้ำของฝายวังบัวซึ่งปัจจุบันเริ่มมีฝนตกลงในพื้นที่แล้ว ทำให้นาข้าวเริ่มฟื้นตัว สถานการณ์โดยรวมเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานกำแพงเพชรจะจัดประชุมการส่งน้ำฤดูฝน เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำและแนวทางในการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาต่อไป . – สำนักข่าวไทย