สธ. 22 พ.ค.- อย.สรุป ยอดยื่นขอนิรโทษกัญชาอย่างไม่เป็นทางการ คาดมีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน ส่วนใหญ่ของผู้ยื่น เป็นเยาวชน อ้างใช้แก้ปวด ยังไม่ตรงกลุ่มโรค มีเพียง 100 คน เข้าเกณฑ์ใช้ 4 กลุ่มโรครักษา
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวสรุปยอดการยื่นขอนิรโทษกัญชา ว่า เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) เป็นวันสุดท้ายของการยื่นของนิรโทษ ไม่รับผิดจากการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ โดยมีผู้มายื่นรวมทั้งสิ้น 20,000 คน จากนี้ อีก 3 เดือน หรือประมาณ 90 วัน ผู้ที่มาขอนิรโทษ สามารถใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคได้ จนกว่าจะมีกัญชาในระบบ ซึ่งคาดว่า จะประมาณเดือน ก.ค.- ส.ค. ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า จำนวนผู้ที่มาขอยื่นนิรโทษนี้ ส่วนใหญ่ระบุว่า ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด เมื่อย ปวดศีรษะ กังวล เครียด ซึ่งในการรักษาโรคลักษณะดังกล่าว สามารถใช้ยาอื่นทดแทนได้ไม่จำเป็นต้องใช้กัญชา ขณะที่ 4 กลุ่มโรค (ลมชักในเด็ก ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด ปวดเรื้อรัง ปอกปลายประสาทอักเสบ) กลับมีแค่ประมาณ 100 คน สำหรับของกลางกัญชาที่มายื่นของนิรโทษที่ทาง อย. ได้อายัดและเก็บไว้ในขณะนี้ มีเมล็ดกัญชา คาดว่าต่อไปจะนำไปใช้ในการปลูก
นพ.สุรโชค กล่าวว่า จากการสังเกตผู้ที่มาขอยื่นนิรโทษกัญชา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งทาง อย.มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดว่า ผู้มายื่นขอนิรโทษต้องไม่ใช่เยาวชน หรือ ถ้าเป็นเยาวชนที่ป่วยต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง ขณะเดียวกัน การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ในกฎหมายเขียนชัดว่า ต้องไม่ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะจะมีปัญหาทางสมอง และในใบสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ กำหนดให้ใช้กัญชาในผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปี เท่ากับประเทศออสเตเลีย ยกเว้นโรคลมชักในเด็กที่กัญชาให้ประสิทธิผลดีในการรักษาเท่านั้น
นพ.สุรโชค กล่าวว่า ขณะเดียวกันจากกรณีของการยื่นนิรโทษกัญชา ทำให้ขณะนี้ได้รับรายงานจากหลายโรงพยาบาล พบ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ วูบสลบไป มารับการรักษาในห้องฉุกเฉินมากขึ้น ซึ่งเมื่อสอบถามพบว่าเกิดการจากทดลองใช้กัญชา และคาดว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะพบผู้ป่วยในลักษณะอาการเช่นนี้มากขึ้น จึงเตรียมประสานให้มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ขณะเดียวกันประสานกรมการแพทย์ ให้มีการอบรมแพทย์, เภสัชกร ให้รู้ผลข้างเคียงหรือฤทธิ์จากการใช้กัญชา ซึ่งเชื่อว่าแต่ก่อนไม่พบผู้ป่วยมากขนาดนี้ เพราะแต่เดิมการกัญชายังไม่อนุญาตใช้ทางการแพทย์ และอยากให้เข้าใจว่า กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิต หรือหัวใจ รวมถึงอาการทางจิตเวช กัญชาไม่ได้มีฤทธิ์ช่วย ขณะเดียวกันอาจได้รับผลข้างเคียงจากกัญชา เพราะการใช้กัญชา ยังไม่มีการกำหนดขนาดที่เหมาะสม และสารพันธุ์ของกัญชาก็ให้สารและฤทธิ์ที่แตกต่างกัน บางตัวมีสาร THC สูง ทำให้เกิดอาการหลอนได้.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• วันสุดท้ายแห่แจ้งความจำเป็นใช้กัญชารักษาโรคคึกคัก
• สธ.แจงการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชา