กทม. 21 พ.ค. – ในงานมหรสพสมโภชเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การแสดงที่เป็นไฮไลท์ที่จัดขึ้นบนเวทีกลางท้องสนามหลวงในวันเปิดงาน วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ คือ การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด พระบารมีมิ่งฟ้ารามาวตาร จากความร่วมมือของ 4 หน่วยงานสำคัญในแวดวงโขนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะงดงาม ร่วมกันร้อยเรียงเรื่องราวสื่อความหมายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นี่คือส่วนหนึ่งของการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน สถลมารคเฉลิมราชจักรี เป็นตอนแรกของชุดการแสดงโขนในงานมหรสพสมโภช ในชื่อชุด พระบารมีมิ่งฟ้ารามาวตาร ในตอนแรกแสดงโดยนักแสดงจากศาลาเฉลิมกรุง
ฉากเปิดเรื่องที่พระรามจะยกกองทัพข้ามมหาสมุทรทำสงครามกับทศกัณฐ์ จึงให้หนุมานนำไพร่พลไปขนหินมาทิ้งในมหาสมุทรเพื่อทำถนน ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นางสุพรรณมัจฉามาขัดขวาง แต่ถูกหนุมานจับได้และตกเป็นชายา นางจึงยอมนำก้อนหินมาคืน พระรามจึงยกกองทัพข้ามไปได้สำเร็จ
โขนตอนนี้ต้องการสื่อถึงการเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราทางสถลมารคที่ผ่านมา ที่มีความยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ เปรียบเสมือนหนุมานทหารเอก จงรักภักดีต่อพระราม และประชาชนรักและเทิดทูนสถาบัน
ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการโขนเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีการเพิ่มรอบการแสดงโขนที่ศาลาเฉลิมกรุง จาก 2 รอบ เป็น 5 รอบต่อวัน นักท่องเที่ยวที่ซื้อบัตรเข้าชมวัดพระแก้ว จะสามารถเข้าชมการแสดงโขนได้ฟรีด้วย ทั้งนี้มาจากตั้งแต่ปี 2559 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ศาลาเฉลิมกรุง เพื่อส่งเสริมกิจการโขนให้ดำรงเอกลักษณ์ไทยไว้
ในงานมหรสพสมโภชครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่จะมีการรวมตัวกันของ 4 หน่วยงานสำคัญของวงการโขนไทย ใช้นักแสดงกว่า 800 คน มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา การแสดง 3 ตอน คือ สถลมารคเฉลิมราชจักรี โดยศาลาเฉลิมกรุง, ตอน เล่ห์อสุรีเมืองลงกา โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และตอน บรมราชาภิเษกพระราม โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยในตอนสุดท้ายสื่อถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
ผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิตโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ให้ข้อมูลว่า ตลอดการแสดง 1 ชั่วโมงครึ่ง ผู้ชมจะได้ชมความสวยงามและเรื่องราวของโขนรามเกียรติ์ โดยเฉพาะโขนศิลปาชีพฯ ที่มีเอกลักษณ์ที่งดงามของชุด การปักลายผ้าแบบโบราณซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ และจากการที่ศูนย์ศิลปาชีพได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ในอดีตทรงเป็นผู้ริเริ่มจนเกิดการสร้างอาชีพในงานฝีมือและฟื้นฟูการแสดงโขนขึ้น
โขนเป็นวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยองค์การยูเนสโก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการอนุรักษ์และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันมีค่าของชาติไทย โดยเฉพาะโขนที่พระองค์ทรงส่งเสริมจนเป็นที่ประจักษ์
ท่วงท่าการแสดงประณีต อ่อนช้อย ดนตรีไทยบรรเลงสด ศิลปะการพากย์เป็นท่วงทำนองเสนาะ โขน นาฏกรรมชั้นสูงของชาติไทย ที่แม้ปัจจุบันยังมีการสืบทอดทั้งการเรียนและในวิชาชีพโดยคนรุ่นหลัง. – สำนักข่าวไทย